มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๑


มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๑

กายในกาย
เวทนาในเวทนา
จิตในจิต
ธรรมในธรรม

                สำหรับท่านทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ย่อมได้ยินคำเหล่านี้มาบ่อยๆจนชินหูแล้ว แต่หากจะถามหาความนัยของคำว่ากายในกาย คืออะไร เวทนาในเวทนาคืออะไร ก็จะเริ่มมึนงงสงสัย ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็กล่าวย้ำซ้ำๆไปมา ว่าให้รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก ยาวหรือสั้นก็รู้ ขอเธอทั้งหลายจงมีสติรู้อยู่ อย่างนี้เป็นต้น เมื่อครั้งที่ผมได้กราบเรียนถามหลวงพ่อ เรื่องกายในกาย ท่านตอบผมว่าก็คืออาทิสมานกายนั่นเอง แต่ผมเองก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ยังคงมีความสงสัยมาก เพราะบางเวลาก็ได้ยินว่า กายในกายก็คืออวัยวะภายในร่างกายบ้าง บางครั้งก็ได้ยินว่า กายภายนอกคือกายของผู้อื่น กายภายในคือกายของเราเองบ้าง

                เวทนาก็เช่นกัน ข้าพเจ้าก็มีความสับสนสงสัยอยู่มาก โดยเฉพาะคำแนะนำให้นั่งสมาธิจนเกิดเวทนากล้า คือมีอาการปวดมาก ต้องนั่งให้ผ่านอาการปวดนี้ไปให้ได้ การจงกรมก็เช่นกันให้เดินจนปวดเรียกว่าเห็นเวทนาแล้วก็ทนกับเวทนานี้จนผ่านไปให้ได้ ใครผ่านไปได้ก็จะภาคภูมิใจว่าได้เห็นเวทนาแล้ว เห็นจะได้คุยฟุ้งต่อกันในหมู่คณะได้

                สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ในวัยหนุ่มที่ร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ ก็ได้เคยปฏิบัติจงกรมจนกระทั่งถ่ายเป็นเลือดสดๆ เดินไปจนกระทั่งหัวเข่าแตก และหลังจากนั้นข้อเข่าก็เสื่อมด้วยวัยเพียง 20 ปี การนั่งสมาธิก็ทนต่อความเจ็บปวดมาตั้งแต่เด็ก ด้วยน้ำหนักที่กดลงตรงเอว ทนปวดจนกระทั่งหมอนรองกระดูกที่เอวแตก ทำให้ลุกเดินไม่ได้ ต้องนอนนิ่งๆอยู่ร่วมเดือน จึงจะพอขยับลุกเดินได้  ซึ่งนั่นไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจแต่อย่างใดเลย แต่รู้สึกว่าตัวข้าพเจ้านี้โง่หนักหนา ผ่านการฝึกฝนตนเองจนร่างกายบาดเจ็บพิการ ระบบทางเดินอาหารก็ย่อยยับ ร่างกายก็บอบช้ำเสื่อมสภาพลงตั้งแต่วัยหนุ่ม ก็ทำให้ความโง่เบาบางลงไปบ้าง จึงได้เห็นว่า เวทนาในสติปัฏฐานสูตรนั้น ไม่ใช่การเดินการนั่งให้ได้รับความเจ็บปวดทางกาย  ซึ่งหากการบรรลุมรรคผลสามารถสำเร็จได้ด้วยการทรมานร่างกายให้เจ็บปวดแล้วทนความเจ็บปวดต่างๆนี้ได้แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะ คงจะบรรลุมรรคผลด้วยการทรมานพระวรกายเป็นเวลายาวนานถึง 6 ปี

                องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพิสูจน์แล้วว่าการทรมานร่างกายให้ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานนั้น ไม่ได้ทำให้บรรลุมรรคผลได้เลย การอดอาหาร การกลั้นลมหายใจ ไม่ได้เกื้อกูลต่อการบรรลุมรรคผลเลย แต่การบรรลุมรรคผลนั้นได้ด้วยการทรมานกิเลส ทรมานตัณหา ทรมานอุปาทาน อันอยู่ที่ใจ จนกระทั่งทรงตรัสสอนเอาไว้สั้นๆว่า “ผู้ใดเพียรตามดูจิต ผู้นั้นจะพ้นบ่วงแห่งมาร”
“มโน ปุพพัง คมาธัมมา มโนเสฏฐา มโน มยา” ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ
ไม่มีบทใดกล่าวว่า กายเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยกาย หรือบรรลุธรรมด้วยกายเลย จะมีก็แต่เพียงการอาศัยกายในการบำเพ็ญเพียร ให้ดูแลร่างกายนี้ตามอัพภาพอันสมควร

                สำหรับข้าพเจ้าผู้ยังหลงในธรรมอยู่นั้น ก็จะขอแสดงแง่มุมความเห็นจากการเจริญสติ ในเรื่องของเวทนาและเวทนาในเวทนา จากนั้นจะกล่าวถึงกาย และกายในกาย จิตและจิตในจิต ธรรมและธรรมในธรรม โดยมิได้อิงจากหนังสือตำราใดๆ เพียงแต่เป็นความเห็นของนักปฏิบัติคนหนึ่งเท่านั้น

                เวทนาในสติปัฏฐานสูตร ในความเห็นของข้าพเจ้าคือ 
๑.ความรู้สึกยินดี 
๒.ความรู้สึกยินร้าย 
๓.ความรู้สึกยินดีก็ไม่ใช่ยินร้ายก็ไม่ใช่  
๔.ความรู้สึกทั้งยินดีและยินร้าย  

                ความรู้สึกยินดี ได้แก่ ความสุขใจ ความปลื้มใจ ความปีติใจ ความรู้สึกประทับใจ มีใจเบิกบานร่าเริง ความรู้สึกสมหวัง เป็นต้น

                ความรู้สึกยินร้าย ได้แก่ ความทุกข์ใจ ความเสียใจ ความท้อใจ ความห่อเหี่ยวใจ ความสลดใจ ความหดหู่ใจ เป็นต้น

                ความรู้สึกยินดีก็ไม่ใช่ยินร้ายก็ไม่ใช่ ได้แก่ ความรู้สึกเฉยๆ ความไม่รู้สึกอะไร ความว่างเปล่า ความสงบใจ

                ความรู้สึกทั้งยินดีและยินร้าย ได้แก่ ความรู้สึกสมหวังและผิดหวังในเวลาเดียวกัน ได้รับข่าวดีและข่าวร้ายในเวลาเดียวกัน ความยินดีที่ประสบความสำเร็จแต่ไม่เท่ากับสิ่งที่คาดหวังไว้  เป็นต้น

                เมื่อผู้เจริญสติ ตามรู้ตามดูจิตอยู่ ย่อมเห็นเวทนาที่เกิดกับจิต ทั้ง ๔ ประการนี้ เวทนาในข้อ ๑,๒,๔ เป็นเหตุให้จิตไม่ว่าง ไม่สงบ ส่วนเวทนาข้อที่ ๓ เป็นเหตุให้จิตสงบ ว่าง แต่ก็ยังเป็นเพียงการว่างอย่างปุถุชน ว่างอย่างโลกีย์  ไม่ใช่ว่างอย่างโลกุตระ จิตของนักปฏิบัตินั้นจะยังคงวนเวียนไปในเวทนาทั้ง ๔ อย่างนี้ แต่เมื่อมีสติตามรู้ตามดูเวทนาที่เกิดขึ้นกับจิต ย่อมเห็นความเปลี่ยนแปลง ของเวทนาที่จิต เปลี่ยนไปยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง ทั้งยินดีและยินร้ายบ้าง ทั้งยินดีก็ไม่ใช่ยินร้ายก็ไม่ใช่บ้าง จนในที่สุดก็จะรู้ขึ้นมาว่า เวทนานี้ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนิจจัง ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพยินดีได้ตลอดกาล หรือทนอยู่ในสภาพยินร้ายไปตลอดกาล จึงเป็นทุกขัง และในที่สุดเวทนาทั้งหลายเหล่านี้ก็ต้องเสื่อมสลายหายจากสภาพสภาวะนั้นๆลงไป เป็นอนัตตา เมื่อเห็นวนเวียนอยู่อย่างนี้ นับหมื่นนับแสนครั้ง ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นไตรลักษณ์ของเวทนา เมื่อเบื่อหน่ายจนถึงที่สุดแล้ว จึงจะได้เห็นว่า เวทนานี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในเวทนานี้ เวทนานี้ไม่มีในเรา นี้จึงเป็นการเห็นเวทนาในเวทนา

                จิตของนักปฏิบัติในการเจริญสติปัฏฐานด้านเวทนา ก็จะเข้าถึงเวทนาในเวทนา กล่าวคือ มองเห็นเวทนานี้ว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วก็จะพิจารณาค้นคว้าลงลึกไปเรื่อยๆว่า เวทนาเหล่านี้มีที่มาจากไหน มีกระบวนการเกิดอย่างไร มีกระบวนการดับไปอย่างไร มีเวทนาใดบ้างที่เกิดแก่จิต มีเวทนาใดบ้างที่ไม่ทันกระทบถึงจิต มีเวทนาใดบ้างที่จะเกิดกับจิตแต่ไม่เกิดขึ้นกับจิต เพราะสติรู้เท่าทันเสียก่อน เมื่อวิจัยวิจารณ์จนเป็นที่พอใจแล้ว ก็จะมาอยู่กับผู้รู้คือสติ เป็นประจำสม่ำเสมอ เมื่อเห็นเวทนาใดๆเกิดขึ้นกับจิต ก็เกิดปัญญา ปัญญาที่ว่านี้คือเห็นไตรลักษณ์ และเมื่อใดที่เวทนาไม่เกิดขึ้นกับจิต ก็เกิดปัญญา คือเห็นความไม่เที่ยงของการไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นของเวทนา และย่อมมองเห็นเสมอถึงเวทนาในเวทนาว่า เวทนาทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของเรา เราจึงสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นเพียงเท่านั้น

                สำหรับเรื่องเวทนา และเวทนาในเวทนาสติปัฏฐานสูตร ในความเห็นของข้าพเจ้าผู้ยังหลงในธรรม ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ ขอท่านนักปฏิบัติทั้งหลาย ที่มาอ่านพบบทความนี้ ก็อย่าได้เชื่อถือใดๆในข้อคิดเห็นของข้าพเจ้า ขอให้ยึดถือเอาตามแนวทางการปฏิบัติขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูง และขอให้บทความของข้าพเจ้า คงเป็นเพียงความเห็นของปุถุชนคนหนึ่งที่เพียรปฏิบัติเพื่อหนทางพ้นทุกข์ เท่านั้นพอ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑