มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒


มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

กายในกาย

                สำหรับการสาธยาย กายานุปัสนาสติปัฏฐานนี้ ขอให้เป็นเพียงความเห็นเฉพาะแต่ข้าพเจ้าเท่านั้น ท่านทั้งหลายอ่านแล้ว พิจารณาแล้วด้วยปัญญาอันชอบของตน และได้ทดลองปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ดีพร้อมแล้ว ย่อมได้รับคำตอบอย่างแจ่มแจ้งในใจของท่านเอง ขอได้โปรดอย่ายึดถือเอาความคิดเห็นของข้าพเจ้านี้ไปเป็นหลัก แต่ขอให้ยึดตามพุทธพจน์บทพระบาลี และพระไตรปิฎกอันพระอริยะสาวกได้ชำระความไว้เป็นแนวทางหลักในการประพฤติปฎิบัติสืบต่อกันไป

                การเจริญสติ ณ ฐานกายนี้ มีในอนุสติ๑๐ประการของกรรมฐาน๔๐ด้วย มีในมหาสติปัฏฐานสูตรด้วยเช่นกัน แม้ในอสุภกรรมฐาน๑๐ และธาตุ๔ อาการ๓๒ ก็ว่าด้วยฐานกายนี้ จึงจัดว่ามีความสำคัญในลำดับต้น การเจริญสมถะกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีความสำคัญจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนไปด้วยกัน ควบคู่กันไป ด้วยสมถะกรรมฐาน ช่วยส่งเสริมกำลังจิตให้มีพลัง เข้มแข็ง แน่วแน่ ซึ่งจะได้ส่งเสริมให้การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน มีความทรงตัวดี เวลาพิจารณาข้อธรรมใดๆ จิตก็มีความมุ่งมั่น ตั้งมั่น แน่วแน่ เด็ดเดี่ยว จึงนับสมถะกรรมฐานนี้ได้มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้การพิจารณานั้น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก ไม่ล้า ไม่ท้อถอย มีแต่จะมั่นคงหนักแน่นในการพิจารณาให้ยิ่งๆขึ้นไป ในเมื่อการเจริญสมถะกรรมฐานมีความสำคัญอยู่เพียงนี้ จึงจะได้ขอกล่าวถึงแนวทางในการเจริญสมถะกรรมฐาน ที่ฐานกายเอาไว้พอเป็นข้อสังเกตดังนี้

                การเจริญสมถกรรมฐานนั้น มีกริยาสำคัญคือการเพ่ง โดยหวังผลให้จิตรวมเป็นหนึ่ง และสงบนิ่งลง เป็นหลัก ซึ่งมีความแตกต่างจากการเจริญสติ หรือวิปัสสนากรรมฐาน ที่มีกริยาสำคัญคือการรู้ โดยหวังผลให้เกิดปัญญาที่ผุดขึ้นมาเองจากภายในจิตเป็นหลัก ในฐานกายเดียวกัน หากจะเพ่งก็กลายเป็นสมถะ หากเปลี่ยนจากเพ่งเป็นรู้ ก็จะกลายเป็นสติ ยกตัวอย่างเช่น ท่านทั้งหลายที่เคยฝึก ยุบหนอ พองหนอ ความมุ่งหมายของการฝึกคือให้เจริญสติ ให้รู้ คำว่าหนอแปลว่า รู้ คือยุบก็รู้ พองก็รู้ หรือจะว่าสั้นๆว่า ยุบรู้ พองรู้ แต่ถ้าผู้ฝึกไปเพ่งลงตรงการยุบการพองของท้อง เพ่งเอาไว้ ใจก็หยุดนิ่งสงบดี แต่ว่าจะมีอาการตึงๆที่ท้ายทอยบ้าง ที่หลังหัวตอนล่างเหนือท้ายทอยบ้าง ตึงที่ขมับบ้าง ที่หน้าผากบ้าง ที่เบ้าตาบ้าง นี่เป็นอาการของสมถะกรรมฐาน แต่เมื่อเปลี่ยนจากการเพ่งพองยุบ มาเป็น รู้ ก็จะพบความแตกต่างกันคือ มีความรู้สึกผ่อนคลายไปทั่วทั้งร่างกาย ระบบประสาทไม่มีอาการเกร็ง อาการตึงๆที่ท้ายทอย ขมับ หรือส่วนต่างๆหายไป การพองยุบของท้องเป็นไปตามปกติ ไม่มีอาการกดข่ม บังคับใดๆ มีแต่รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกสบายกาย ใจก็เริ่มจะปลอดโปร่ง มองเห็นการยุบลง พองออกของท้องเป็นเพียงกริยาอาการหนึ่งๆเท่านั้น การยกมือช้าๆตามแบบของหลวงพ่อใหญ่วัดไทรงาม หลวงพ่อสุทัศน์ วัดกระโจมทอง หรือการยกมือเป็นจังหวะตามแบบของหลวงพ่อเทียน วัดสนามใน ก็มีหลักในการสังเกตว่า เป็นการฝึกในสมถะกรรมฐานหรือวิปัสสนากรรมฐาน

                ฐานกายในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น เป็นการอาศัยสติ คือผู้รู้ มาจับความรู้สึกของร่างกายทั้งหมดทั่วพร้อมไปทั้งกาย ตั้งแต่บนสุดคือเส้นผมไปจนต่ำสุดคือฝ่าเท้า ผู้รู้ที่มาจับความรู้สึกทั่วร่างกายนี้ ก็เรียกว่าสัมปชัญญะ จับความรู้สึกทางกายทั่วทั้งกายนี้จับความรู้สึกอะไร? หากจะว่าโดยย่อถึงที่สุดแล้ว คือจับอาการเคลื่อนไหว และอาการไม่เคลื่อนไหวของสังขารร่างกายนี้ หากจะกล่าวโดยขยายออกไป ก็คือจับความรู้สึกในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน และ อิริยาบถย่อย ๕ คือ กิน(มีอาการเคี้ยว) ดื่ม(ไม่มีอาการเคี้ยว) เหยียดออก(เหยียดแขน เหยียดขา) คู้เข้า(งอแขน งอขา งอตัว ก้มตัว) เคลื่อนไหว(ในทุกๆท่าทางที่มีการขยับอวัยวะ กระพริบตา ท้องพองยุบ ขยับนิ้ว ขยับมือ)  และหากจะขยายความให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปกว่านี้ สำหรับฐานกาย ก็คือ ตาเห็นรูป หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายรับสัมผัส (สำหรับใจรับธรรมารมณ์จะได้กล่าวถึงในฐานของจิต ในตอนต่อไป) สำหรับ ตาเห็นรูป หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรสนั้น ผู้รู้ จะต้องรับรู้ขึ้นมาพร้อมๆกัน การรับรู้โดยผู้รู้นี้ขอเรียกว่าสัมปชัญญะนั้น ต้องรู้ใน2ส่วนคือ ตาเห็นรูปก็รู้อยู่ว่าตาเห็นรูป ตาไม่เห็นรูปก็รู้อยู่ว่าตาไม่เห็นรูป หูได้ยินเสียงก็รู้อยู่ว่าได้ยินเสียง หูไม่ได้ยินเสียงก็รู้อยู่ว่าหูไม่ได้ยินเสียง จมูก ลิ้น ก็เช่นเดียวกัน

                การเจริญสัมปชัญญะ ที่ฐานกายนี้ จึงเป็นการรู้สึกตัวทั่วพร้อมในทุกๆอิริยาบถของทุกๆส่วนในร่างกายและการเปิดอายตนะทั้งหมดออกมารับรู้โดยพร้อมเพรียงกัน เมื่อนั้นก็จะได้เห็นความจริงว่า รูปภายนอก กระทบรูปภายใน แล้วก็ดับไป เช่นรูปต้นไม้(รูปภายนอก)กระทบลูกตาคือการมองเห็น(รูปภายใน) เกิดจักขุวิญญาณ แล้วก็ดับไป เมื่อดับไปแล้ว รูปใหม่ก็เกิดขึ้นแทนที่ เกิดการกระทบกับรูปภายใน(ลูกตา)ใหม่ เกิดจักขุวิญญาณ แล้วก็ดับอีก มีอาการเกิดดับ เกิดดับ อยู่เช่นนี้ หู จมูก ลิ้น ก็เช่นเดียวกัน แม้แต่ร่างกายนี้ ก็แตกดับจากสภาวะในวัยทารก มาเกิดเป็นวัยเด็ก ตายจากวัยเด็กมาเกิดเป็นวัยหนุ่มสาว ตายจากวัยหนุ่มสาวมาเป็นวัยผู้ใหญ่ จึงมาพิจารณาเห็นว่า ร่างกายเรานี้ก็ได้ตายไปจากเมื่อวาน และมาเกิดขึ้นวันนี้ และจะตายจากวันนี้ไปเกิดเป็นวันพรุ่งนี้ เมื่อพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว ก็จะเห็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมทั้งกายนี้ ได้ดับลงและเกิดใหม่ขึ้นมา หมุนวนเวียน เกิดๆดับๆอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อไปถึงที่สุดคือลมหายใจสุดท้าย ซึ่งต้องหมดลมด้วยกันทุกคน

                เมื่อภาวนาไปในสัมปชัญญะ ทบทวนอยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไปแบบนี้นับหมื่นนับแสนครั้ง จิตใจก็จะเริ่มคลายจากความยึดมั่นถือมั่นลงได้บ้างว่า ร่างกายนี้โดยเนื้อแท้แล้วก็ไม่ได้เป็นเราเป็นของเรา เราไม่ได้มีในร่างกายนี้ ร่างกายนี้ก็ไม่ได้มีในเรา เป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ เป็นสักแต่ว่าอาการกริยา และความรู้สึก ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นเช่นนี้หมุนเวียนกันไป หาใช่เรา ใช่ตัวใช่ตนของเราไม่ ในความเห็นของข้าพเจ้า จึงพิจารณาว่า นี้คือการเห็นกายในกาย  คือการเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ที่นักปฏิบัติจะพึงเห็นให้มาก ให้บ่อย ให้สม่ำเสมอ

                จึงจะได้ขอจบ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้ความเห็นนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าเท่านั้น สามารถนำไปพิจารณาได้ แต่อย่าพึ่งลงหลักปักใจเชื่อ และขออย่าได้ถือว่าข้าพเจ้าเป็นผู้รู้ธรรม เห็นธรรม หรือบรรลุธรรมใดๆ เพราะเนื้อแท้แล้วข้าพเจ้ายังคงเป็นเพียงผู้หลงธรรม หลงทาง ผู้หนึ่งเท่านั้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

พระนิพพาน ๑