มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๔


มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๔


ธรรมในธรรม

                หมวดสุดท้ายนี้ ในความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า เห็นว่ายากที่สุดแล้ว และยังไม่อาจคาดการณ์ใดๆล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดสภาวะธรรมใดๆ เมื่อไหร่ อย่างไร พอจะบอกได้ว่า จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมรรคสมังคีแล้วเท่านั้น มรรคสมังคีคือ เมื่อมรรคทั้ง๘ประการมีความสมบูรณ์พร้อมแล้ว มีกำลังของสมาธิ สติ ปัญญา เสมอกัน ไม่มากไป ไม่น้อยไป พอดิบพอดี ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า พอดิบพอดีของแต่ละท่านอยู่ที่ตรงไหน บอกไม่ได้ว่าต้องมีความเพียรแก่กล้าเท่าใด เนื่องจากตึงไปก็ไม่เกิดผล หย่อนไปก็ไม่ได้ มัชฌิมาปฏิปทา พูดง่ายจำมาพูดได้แต่เวลาทำจริงๆ ตรงที่ว่าทางสายกลางนั้นแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน กลางของแต่ละคนจะให้อีกคนนึงทำก็ไม่ได้ผล

                สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนกันในหมวดของธรรม ก็คือ มีสติตามดูจิต เพียงแต่ว่าเมื่อมาถึงตรงจุดนี้แล้ว สติย่อมเป็นมหาสติ มีสมาธิตั้งมั่นได้ดีแล้วอย่างมั่นคง มีความกล้าหาญ องอาจ แกล้วกล้า ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งภายนอกและภายในที่จะเกิดขึ้น ไม่มีเวลาที่ว่างเว้นจากการภาวนา มีสติตามดูจิตไม่ว่างเว้นทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งในยามหลับและยามตื่น มีสัมปชัญญะรู้สึกตัวทั่วพร้อมตื่นอยู่ด้วย เบิกบานแต่ก็สงบ มีความรู้สึกตัวคล้ายๆกับว่า มีใครเอาแหมาพันรอบตัวเรา รัดเอาไว้แน่น

                การภาวนาในจุดนี้จะอาศัยการยกหัวข้อธรรมใดหัวข้อธรรมหนึ่งขึ้นมาพิจารณา โดยหัวข้อธรรมนั้นก็จะอยู่ในเรื่องของกาย เรื่องของจิต และการพิจารณาจะจบลงที่ไตรลักษณ์เสมอ ทุกครั้งไป แม้ว่าการพิจารณากายจะเป็นกายเดียวกัน เช่นการพิจารณา เส้นผม แต่การพิจารณาในหมวดธรรมานุปัสนามหาสติปัฏฐานจะแตกต่างจากการพิจารณาเส้นผมในหมวดของกายานุปัสนามหาสติปัฏฐาน ดังจะขอยกตัวอย่างการพิจารณา เส้นผม ในหมวดกายานุปัสนามหาสติปัฏฐาน คือการพิจารณาเห็น เส้นผมที่ปรากฏอยู่บนหนังศีรษะ มีการเกิดขึ้นจากรูขุมขน อันอุดมไปด้วยไขมัน เส้นเลือดมาหล่อเลี้ยง ให้เส้นผมที่ค่อยๆงอกยาวออกมา มีความสกปรกจากไขมันที่หัว ฝุ่นละอองมาเกาะ ต้องคอยสระคอยล้างออก หาไม่แล้วจะมีกลิ่นเน่าเหม็นเป็นที่น่ารังเกียจ จนกระทั่งเส้นผมแก่ หงอกขาว และหลุดร่วงลงไปในที่สุด เป็นการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับไป หาความจีรังยั่งยืนไม่ได้ บางครั้งก็หลุดร่วงก่อนจะแก่ขาวหงอก บางครั้งหลุดร่วงออกตั้งแต่เส้นผมยังอ่อนเยาว์อยู่ หาความแน่นอนไม่ได้ จึงเป็นอนิจจัง แม้ว่าเส้นผมจะเกิดขึ้นแล้วบนหนังศีรษะอันสกปรกอยู่เนืองๆนี้ ก็จะหาความคงทนถาวรไม่เปลี่ยนแปลง คงสภาพเดิมเอาไว้อย่างนั้นไม่ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงแก่ลงไป เป็นทุกขังคือทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดกาลตลอดสมัยไม่ได้ ในที่สุดก็หลุดร่วงหายไป เป็นอนัตตา ในที่สุด ในฐานกายานุปัสนามหาสติปัฏฐานจะพิจารณาในแนวทางนี้ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีความสกปรก และจบลงที่ไตรลักษณ์ในที่สุด

                เส้นผม ในธรรมานุปัสนามหาสติปัฏฐาน มองเห็นเส้นผมว่าผุดขึ้นมาจากหนังศีรษะนี้ เป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุหนึ่งปรากฏขึ้นเท่านั้น เมื่องอกอยู่บนหนังศีรษะอันจะว่าสกปรกก็มิใช่ จะว่าสะอาดก็มิใช่ มันเป็นไปตามสภาวะของมันอย่างนั้นเอง บุคคลเป็นผู้สมมติว่านี้เรียกว่าสกปรก นี้เรียกว่าสะอาด ทั้งที่โดยตัวของหนังศีรษะและเส้นผมเองแล้วก็ไม่ได้ล่วงรู้ว่าสิ่งนี้เรียกว่าสกปรกหรือสะอาด เป็นแต่เพียงการดำเนินไปตามครรลองของธรรมชาติเท่านั้น เมื่อร่างกายของบุคคลนั้นยังเป็นธาตุดำรงขันธ์อยู่ ธาตุ(คืออาหาร)เติมธาตุ(คือร่างกาย) ย่อมเสริมให้ธาตุ(คือเส้นผม) งอกยาวต่อไป อันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยสืบเนื่องกันมา จนเมื่อถึงกาลของอายุขัย ย่อมร่วงหล่นไปเป็นธรรมดา และสลายหายไปในที่สุด หาได้มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน หาได้มีสิ่งใดให้ยึดมั่นถือมั่นว่าเราว่าของเราว่าตัวว่าตนของเรา การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดำเนินไป และดับสลายหายไปในที่สุดนี้ ก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ หาได้มีความสุข ความทุกข์ ความยินดี ความยินร้าย ต่างๆใดๆก็มิได้ เพราะเส้นผมนี้ก็เป็นแต่เพียงสมมติ การเกิดขึ้นของเส้นผมก็สมมติ การหลุดสลายหายไปก็เป็นแต่เพียงสมมติ หาความสำคัญมั่นหมายไม่ได้ หาประโยชน์จากการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ได้ แม้การไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่ได้ทำให้เส้นผมที่งอกอยู่จนร่วงหล่นไปนั้นเปลี่ยนแปลงอะไรไปอย่างใดเลย เมื่อนั้นแล้ว การยึดมั่นถือมั่นนี้ก็ไม่มีในเรา การไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ก็ไม่มีในเรา สังเกตว่า การพิจารณาในหมวดธรรมนี้ จะพิจารณาเรื่องของสภาวะ มากกว่าการพิจารณาความเป็นรูป หรือความสกปรก พิจารณาเรื่องความเป็นสมมติ ความยึดมั่นถือมั่น และก็ไม่ได้ยินดีในความไม่ยึดมั่นถือมั่น ทั้งไม่ได้ยินดีหรือแสวงหาวิมุตติแต่ประการใด เป็นแต่เพียงพิจารณาไปตามสภาวะธรรมของสิ่งนั้นๆเท่านั้น

                ฝึกไปจนใจไม่อยาก ฝึกไปจนใจไม่นับวันเวลา ฝึกไปจนกว่าใจจะไม่มีเงื่อนไขในการฝึก พิจารณาไปจนไม่นับครั้งนับรอบ พิจารณาไปจนเบื่อหน่ายและก็พิจารณาต่อจนเบื่อหน่ายในความเบื่อหน่ายจนพ้นไปจากความเบื่อหน่ายแล้ว ก็พิจารณาต่อไป ฝึกต่อไป และโปรดอย่าถามข้าพเจ้าถึงนิพพิทาญาณไหม โครตภูญาณใช่หรือเปล่า โสฬสญาณผ่านมาแล้วหรือยัง เพราะข้าพเจ้าไม่ทราบ ข้าพเจ้าฝึกไปตามครรลองของจิตเท่านั้นเอง เวลานั้นไม่รู้จะไปเอาคำพูดสมมติหรือคำนิยามเหล่านี้มาเพื่ออะไร

                จนกระทั่งถึงเวลานั้น เวลาที่ทุกอย่างพร้อมแล้ว สมบูรณ์บริบูรณ์ครบถ้วน จิตจะรวมลงแล้ววูบลงไปจากนั้นจะโพรงขึ้นมาเห็นสภาวะธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงว่า สิ่งนี้มีสิ่งนี้ย่อมมี สิ่งนี้ย่อมมีอยู่แต่ไม่มีอยู่ในความเป็นจริง สิ่งนี้สมมติ และสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนสมมติ สรรพสิ่งทั้งหลายเป็นอยู่ของมันเช่นนี้เอง หาใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ (ในสภาวะธรรมนี้จะไม่ระบุถึงชื่อเรียกของสิ่งต่างๆ คงเนื่องจากชื่อเรียกทั้งหลายเป็นแต่เพียงสมมติกันขึ้นมา) ต่อจากนั้นจะเห็นสรรพสิ่งรอบกายถล่มทลายลงไปจนราบเรียบกว้างไกล จนไม่เหลือสิ่งใดๆอีก ต่อจากนั้นจิตจะรวมวูบลงอีกครั้งแล้วเกิดสภาวะธรรมหนึ่งที่รู้เห็นขึ้นมากับจิต คือเห็นว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกายนี้ ร่างกายนี้ไม่มีในเรา และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ ในหมื่นแสนโลกธาตุนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ควรถือมั่น ยึดมั่นอะไรใดๆทั้งสิ้น หากแต่การเกิดสภาวะธรรมนี้คล้ายกับการได้ลืมตามองเห็นแสงสว่างของคนที่หลับตามาตลอดชีวิต เป็นสภาวะธรรมที่ทำให้แจ้งแก่ใจจนสิ้นสงสัยทั้งปวง เป็นสักขีพยานในธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ ไม่ต้องมีภาษา ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆอีก แจ้งอยู่ตรงนั้น สิ้นสงสัยก็อยู่ตรงนั้น สภาวะธรรมอันไม่เคยปรากฏมีมาก่อนเป็นความมหัศจรรย์เหนือความมหัศจรรย์ของจิต

                ถึงเวลานี้จึงเกิดปัญญา(อันอาจเนื่องมาจากการพิจารณาธรรมซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานาน) เห็นสภาวะธรรมอันประเสริฐหมดจดนี้ว่า สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับเรา มาบัดนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ดับไปย่อมไม่มี สิ่งใดเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่เราจะยึดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา ว่าตัวว่าตนของเรา เมื่อเกิดปัญญาต่อสภาวะธรรมนี้แล้ว จิตก็วางสภาวะธรรมนี้ลง ตรงจุดนี้เอง ที่ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นการเห็น “ธรรมในธรรม” คือการเห็นธรรมว่าไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีการยึดมั่นถือมั่นใดๆในสภาวะธรรมนั้นๆอีก หลังจากนั้นเมื่อกลับสู่การพิจารณาในการภาวนาต่อๆไปนั้น จึงพิจารณาเห็นว่า สภาวะธรรมอันเป็นปัจจัยให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นนี้ ก็เป็นธรรมอันคู่โลก เพื่อยังสรรพสัตว์ให้พ้นจากวัฏฏะสงสาร ประหนึ่งดังเรือข้ามฟาก ที่ไม่ได้ขึ้นฝั่งไปด้วยพร้อมผู้โดยสาร เป็นแต่เพียงปัจจัยเกื้อกูลให้กับนักปฏิบัติได้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

                สุดท้ายนี้ ขอท่านทั้งหลายที่ได้อ่าน โปรดจงอย่าเชื่อข้าพเจ้า ขอให้ฝึกฝนและพิสูจน์ด้วยตัวของท่านเอง และขอได้โปรดทราบว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่อริยะบุคคลใดๆ ไม่ใช่พระโสดาบัน และยังไม่ได้มีความดีใดๆให้ท่านทั้งหลายจะมายอมรับนับถือ เคารพสรรเสริญใดๆ ข้าพเจ้ายังคงเป็นปุถุชนคือบุคคลผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ยังต้องเพียรในการภาวนาอีกมาก เรื่องที่เล่ามาทั้งหมดนี้ก็เป็นแต่เพียงประสบการณ์ในช่วงเวลาหนึ่ง และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว อันข้าพเจ้าผู้ยังหลงในธรรมอยู่ ดังนั้นจึงไม่อยากให้ท่านผู้อ่านคิดว่าข้าพเจ้าเป็นคนดี หรือเป็นผู้บรรลุธรรมใดๆ ขอให้คิดว่าข้าพเจ้าเป็นเพื่อนของท่านคนหนึ่งที่เล่าสู่กันฟังประสาเพื่อนเท่านั้น โดยไม่มีเจตนาทำร้ายหรือให้ร้ายใดๆกับท่าน และไม่ได้หวังจะได้รับสิ่งใดๆจากท่านทั้งหลาย และจะขอจบเรื่องมหาสติปัฏฐาน๔ ไว้แต่เพียงเท่านี้ หากจะมีผลบุญใดเกิดขึ้น ขอให้ท่านทั้งหลายจงได้รับผลบุญนั้นโดยครบถ้วนทั้งสิ้นทุกประการ ในกาลปัจจุบันนี้ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน ความปรารถนาที่ดีงามของทุกๆท่าน ขอจงสำเร็จสมปรารถนา



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑