ธรรมที่ยอมหลง


ธรรมที่ยอมหลง

             

            ผมเคยคิดในใจว่า ทำไม? หลวงพ่อไม่เห็นปฏิบัติธรรมภาวนาเลย เมื่อบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว ไม่ต้องปฏิบัติธรรม ไม่ต้องภาวนาก็ได้งั้นเหรอ แบบนี้จะได้ชื่อว่าประมาทหรือไม่ ไฉนพระมหากัสสป จึงยังถือธุดงควัตร ๑๓ เพื่อให้เป็นแบบอย่างต่อพระภิกษุภายหลังเล่า มีคำถามถึงวัตรปฎิบัติหลายอย่างของครูบาอาจารย์ ที่ทำให้เกิดความสงสัย คำตอบต่างๆก็ฟังดูเหมือนการแก้ตัวแก้ต่าง บ้างก็ขู่เอาว่าจะต้องตกนรกหมกไหม้ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด ทำให้ผมเก็บความสงสัยเหล่านี้เอาไว้แล้วเร่งรัดฝึกฝนตนเองดีกว่า การเที่ยวไปสงสัยในบุคคลอื่น นอกจากหาประโยชน์มิได้แล้ว ยังเป็นความโง่ บ้า ถือฑิฐิ ไม่มีดีเลยสักอย่างเดียว ถ้าต้องการจะสิ้นสงสัย ในเรื่องของการปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติไปให้ถึงที่สุด ให้สิ้นสงสัย อย่างนี้จึงจะถูกต้องกว่า

               คนที่ฟังมามาก อ่านมามาก ก็ยิ่งสงสัยมาก ยิ่งสงสัยมากก็ยิ่งครุ่นคิดตรึกตรองด้วยปัญญาจากมันสมอง ที่ถูกถือครองโดยกิเลส ตัณหา อุปาทาน เพื่อให้ได้คำตอบที่สมกับใจของตนเอง คือตรงตามที่ตนเองอยากเชื่อ จะจริงหรือไม่จริง ไม่สำคัญเท่ากับ จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คนที่ไม่เชื่อก็จะยังหาเหตุผลที่จะไม่เชื่ออยู่ดี ป่วยการจะไปอธิบาย สำหรับการภาวนาเพื่อให้เข้าถึงสภาวะธรรมนั้น เป็นเรื่องยากยิ่งกว่ายาก จะมีใครมีความวิริยะ อุตสาหะ เพียรพยายามอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพียงเพื่อพิสูจน์ว่า ธรรมขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นจริง จริงอย่างไร? โดยมากก็เชื่อเพราะฟังตามๆกันมา ครูบาอาจารย์สอน แต่บางครั้งครูบาอาจารย์ไม่เห็นทำตามอย่างที่สอน ก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยเข้าไปอีกว่าท่านปฏิบัติติได้จริงไหม หรือว่าท่านก็อ่านมาจำมาเหมือนกัน

               วันที่มันยังไม่รู้ คิดอย่างไรมันก็ไม่รู้ วันที่มันหยุดคิด เลิกคิด แล้วมุ่งทำความเพียรทางจิต จนหมดสิ้นความคิดแล้ว ความรู้จึงเกิด ความรู้เมื่อเกิดแล้ว ก็ทำการโยนิโสนมัสการ คือการพิจารณาโดยแยบคายดีแล้ว จนเกิดความรู้ในรู้ คือรู้แล้วไม่ยึดในสิ่งที่ตนรู้ เมื่อพ้นความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นไปแล้ว ก็จะเห็นแต่ความเป็นกลางของจิต ที่ไม่ยินดียินร้ายต่อความรู้ ว่าความรู้นี้ผิดหรือถูก ก็เป็นสักแต่ว่ารู้เอาไว้แล้ว เมื่อใจสงบรวมลงดีแล้ว จิตจะปลอดโปร่ง ปราศจากภาระของความรู้ความเห็น ความมีความเป็นทุกประการ เวลานั้นจึงได้เห็นการปฏิบัติของครูบาอาจารย์ท่านทั้งหลายเป็นดังนี้คือ

               สภาวะจิตของครูบาอาจารย์ หลวงปู่ หลวงพ่อ ที่เคารพ ท่านได้ประหัตประหาร ขจัดกิเลส ตัณหา อาสวะ จนสิ้นไปจากจิตแล้ว ไม่กำเริบขึ้นอีกแล้ว แม้สิ่งใดจะผ่านเข้ามากระทบ แม้ว่ากระทบแล้วจะเกิดปฏิกิริยาแสดงออกไปอย่างไร จิตของท่านที่พ้นไปแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่ข้องแวะด้วย แต่ก็มีการตามรู้ตามดูจิต จิตยังทรงฌาน สติยังทรงตัวสมบูรณ์แบบ แม้ว่าร่างกายจะกิน จะดื่ม จะนั่ง จะคุย จะหัวเราะ แต่จิตท่านมีการพิจารณาอยู่ตลอดเวลา มีการปฏิบัติภาวนาไม่เคยว่างเว้น เราที่เป็นปุถุชน ไม่สามารถรับรู้ได้ ไม่อาจจะมองเห็นได้ จึงไปกล่าวหาท่านว่าไม่ภาวนา คุยเล่นหัวเราะกับโยม ไม่สำรวม ต่างๆนานาตามแต่จะนึกตำหนิโทษท่านได้ โดยการตัดสินเอาจากกริยาทางกาย ไม่ได้พิจารณาถึงปฏิกิริยาทางใจของท่าน

               จึงอยากจะบอกว่า การปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ที่ท่านจบกิจแล้วนั้น ท่านยังคงปฏิบัติธรรมอยู่ ท่านไม่เคยทิ้ง และยิ่งจะปฏิบัติให้มากยิ่งๆขึ้นไป คำว่าถอยไม่มีอีกแล้ว เพียงแต่กริยาทางกายนั้น ยังเป็นของโลกๆอยู่ ท่านก็ยังต้องทำตามโลกที่เขาอยากให้ท่านแสดง กายก็ทำไป แต่ใจนั้นท่านภาวนาไม่เคยทิ้ง ส่วนใครที่บอกว่า บรรลุธรรมขั้นสุดแล้ว ทิ้งทุกอย่างแล้ว ไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องพิจารณา ไม่ต้องฝึกสมาธิ ไม่เอาแล้ววิปัสสนา เพราะว่าธรรมเหล่านี้เป็นเครื่องยึดติด เป็นแต่เพียงเครื่องมือ เป็นแต่เพียงเรือจ้าง ถึงฝั่งแล้วก็ต้องทิ้ง อันนี้ผมขอยืนยันด้วยตัวของผมเองว่า ท่านทั้งหลายนั้นไม่ได้ทิ้งธรรมแต่อย่างใด ท่านยังคงทรงธรรมนั้นอยู่ ยังปฏิบัติทางจิตอยู่ ยังภาวนาในใจอยู่ ยังมีธรรมเป็นเครื่องอาศัยอยู่ ท่านไม่ได้ทิ้งธรรม เพียงแต่ท่านไม่ได้ยึดในธรรม ทิ้งกับไม่ยึด แตกต่างกัน ทิ้งคือไม่เอาแล้ว เขว้งทิ้งไป สละทิ้งไป ต่างจากการไม่ยึด คือยังมีธรรมอยู่ ยังทรงธรรมอยู่ แต่ว่าไม่ได้ยินดีหรือว่ายินร้ายในธรรมนั้นๆ มีเอาไว้สงเคราะห์โลก สงเคราะห์สัตว์ ยามเมื่อทรงสังขารอยู่ก็จะได้ยังประโยชน์ให้เวไนยสัตว์ ต่อเมื่อละสังขารแล้ว ธรรมก็ยังคงอยู่คู่โลกต่อไป ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านก็ไม่ได้แบกเอาเข้าพระนิพพานไปด้วย

               ดังนั้นท่านทั้งหลายที่คิดดูหมิ่น คิดประมาทต่อครูบาอาจารย์เหมือนผมในสมัยก่อนนั้น ก็ขอให้เลิกเสียก่อนครับ หันกลับมาฝึกจิตของตน ภาวนาเอาเรื่องของตัวตนของตนเองให้สำเร็จเสร็จสิ้นก่อน ไม่มีความจำเป็นต้องไปวิพากย์หรือวิจารณ์ ในภูมิจิตภูมิธรรมที่เรายังไม่มีความรู้ ไม่เกิดประโยชน์ มีแต่โทษล้วนๆ สำหรับพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ครูบาอาจารย์นำมาถ่ายทอดให้เราได้รู้ ได้ประพฤติปฏิบัติตามนั้น ก็ขอให้ยึดถือเอาไว้ก่อน นำมาปฏิบัติจนกว่าจะพ้นจากสังโยชน์ทั้ง๑๐ประการก่อน ต่อจากนั้นแล้ว จะยึดไม่ยึด จะหลงไม่หลง จะทิ้งไม่ทิ้ง ถึงเวลานั้นค่อยมาว่ากันอีกที

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑