เบื่อ


เบื่อกับนิพพิทาญาณ ต่างกันอย่างไร



          เบื่อ เป็นอารมณ์ทางโลก เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จิตใจเศร้าหมอง ไม่ก่อให้เกิดปัญญา นิพพิทาญาณ เป็นการเบื่อทางธรรม ช่วงจังหวะที่จะก้าวข้ามทางโลกเข้าสู่ทางธรรม เป็นความเบื่อที่เห็นความซ้ำซาก เห็นความโง่ในความหลงของตนและสรรพสัตว์ทั้งหลายซ้ำๆซากๆจนเบื่อหน่าย จิตใจมันไม่อยากเอา ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากเกิด มีจิตคิดใคร่ครวญในการหาทางออกจากวัฏฏะสงสารนี้ แต่ว่าปัญญาในการหาหนทางออกยังไม่เกิด จิตไม่ได้เศร้าหมองแบบหดหู่ ห่อเหี่ยว ท้อแท้ ทอดอาลัย นิพพิทาญาณนี้มีปัญญา คือเห็นปัญหา เห็นทุกข์ ของการเวียนว่ายตายเกิด เป็นการเอาเรื่องทางโลกมาพิจารณาในทางธรรม

          จู่ๆจะเกิดนิพพิทาญาณเองไม่ได้ครับ นิพพิทาญาณมีพื้นฐานเดิมมาจากการพิจารณาในกายในจิตของตน ที่หลวงพ่อสอนให้พิจารณากายว่าสกปรก เป็นของไม่น่าดู ลำดับด้วยอาการ 32 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ ฯลฯ พิจารณาให้เห็นถึงความสกปรก เป็นของเน่าเหม็นอยู่เนืองๆ พิจารณาอาหารเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา ให้เห็นว่าอาหารนี้มีความเสื่อมไปบ้าง ย่อมเน่าเหม็นบ้าง เมื่อกระทบกับร่างกายอันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้วย่อมเป็นของน่าเกียจอย่างยิ่งไปด้วยกัน หรือว่าวางเอาไว้เฉยๆหลายวันเข้าก็เน่า ขึ้นรา น่ารังเกียจ ส่งกลิ่นเหม็น  พิจารณาอสุภะ ๑๐ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง ความเสื่อมสลาย แตกดับ เป็นของเน่าเหม็น เป็นของน่ารังเกียจ ในที่สุดแล้วก็จบลงที่ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น การพิจารณาแบบนี้ทั้งยามปกติ และยามที่อยู่ในสมาธิ การพิจารณาดำเนินไปตามลำดับ หรือที่ท่านเรียกว่าอนุโลม และพิจารณาย้อนกลับ หรือท่านเรียกว่าปฏิโลม การพิจารณาอย่างหยาบๆ ค่อยๆพิจารณาอย่างช้าๆโดยละเอียด รอบคอบ ดูตัวอย่างที่หลวงพ่อฤษีท่านพิจารณาคำข้าว ว่าคำข้าวคำเดียวเป็นทุกข์อย่างไรบ้าง พิจารณาอย่างนี้นับวันนับเดือนนับปีไม่ได้เลย คือไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ว่าเมื่อถึงเวลาแล้ว อารมณ์นิพพิทาญาณจะเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นจะกินเวลานานหรือว่ากินเวลาไม่นานก็แล้วแต่ แต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไป ในที่สุดแล้วก็จะเห็นว่า ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน ความตายเป็นของยั่งยืน เราจะมีความตายเป็นแน่แท้ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกายนี้ ร่างกายนี้ไม่มีในเรา

          ถ้าจะไม่กล่าวถึงความหลงในนิพพิทาญาณเอาไว้ ก็จะไม่สอดคล้องกับชื่อกระทู้หลงธรรม อาการหลงในนิพพิทาญาณ มีด้วยกันดังนี้ครับ

          ในสมัยผมรุ่นๆยังอยู่กับหลวงพ่อ ศิษย์พี่หลายๆคนก็มักจะมาปรารถกับผมว่า เบื่อเหลือเกินกับชีวิตนี้มันมีแต่ทุกข์ ไม่อยากจะเกิดอีกแล้ว อยากจะไปนิพพาน อยากตายมันเสียตั้งแต่วันนี้พรุ่งนี้เลย  ตายลงเมื่อไหร่ฉันของไปนิพพาน หลวงพ่อบอกว่าให้นึกถึงนิพพานทุกๆวันพอตายไปปุ๊บ ไปโผล่อยู่ที่พระนิพพานปั๊บ นี่ผมฟังศิษย์พี่ส่วนมากก็จะอ้างคำสอนหลวงพ่อมาแบบนี้ ครั้นผมจะค้านว่า ถ้าเรานึกถึงนิพพานๆๆๆๆ ทุกๆวันแบบนี้แล้วไปนิพพานได้จริงแล้วนั้น มรรค๘ ก็ไม่ต้องทำ สังโยชน์๑๐ก็ไม่ต้องละ กรรมฐานก็ไม่ต้องฝึก มหาสติปัฏฐาน๔ ก็ไม่ต้องมี คนทั้งหลายต่างก็พากันนึกว่าอยากไปนิพพานทุกๆวัน ตายแล้วก็ได้ไป ง่ายดีเหมือนกันนะครับ เพียงเท่านี้ผมก็โดนรุมด่าซะเละแล้ว หาว่าผมนี่ไม่เชื่อหลวงพ่อบ้างล่ะ ที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อหลวงพ่อ แต่ผมไม่ชอบที่ศิษย์พี่หลายๆคนตัดเอาคำสอนของหลวงพ่อเพียงบางส่วนบางท่อนเอามาเพื่อสนับสนุนกิเลสตัณหาของตนเอง จะเอาคำสอนหลวงพ่อมาพูด มาทำ ก็ต้องเอามาให้หมด ตัดเอาบางคำพูดมาใช้แบบมักง่าย ทำให้คนรุ่นหลังพากันเข้าใจผิดแบบนี้ผมไม่เห็นด้วยนะครับ หลวงพ่อสอนพิจารณาร่างกาย พิจารณาอาหาร พิจารณาทุกข์ เพื่อให้ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้น ให้เข้าเขตพระโสดาบันให้ได้ก่อน ท่านสอนมโนมยิทธิ เพื่อให้ย้อนกลับไปดูว่าในอดีตชาตินั้น มีชาติไหนเกิดมาแล้วมีความสุขไม่มีความทุกข์ ไม่มีความพลัดพราก ไม่โศกเศร้า มีหรือไม่ ในเมื่อมันเกิดมากี่ชาติกี่แสนชาติมันก็เป็นทุกข์ แล้วยังจะอยากเกิดอีกไหม อยากเป็นพระเจ้าจักรพรรดิไหม(อันนี้ผมถามตัวเองหลวงพ่อไม่ได้บอก) เป็นคนธรรมดานี่ก็ทุกข์มากแล้วเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทุกข์แสนสาหัสเข้าไปอีก คนที่หวังเอาหนทางพ้นทุกข์ไม่มีใครสนใจจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเลยสักคนเดียว คนเดินหาทุกข์เท่านั้นแหละที่อยากเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ อยากมีเมียเยอะๆ อยากมีบริวารรับใช้เยอะๆ อยากมีทรัพย์สมบัติเยอะๆ พวกนี้ไม่ต้องไปพูดถึงนิพพิทาญาณ ป่วยการ เจ็บคอฟรีๆ ไม่มีประโยชน์

          จากอารมณ์นิพพิทาญาณก็จะไปถึงโคตรภูญาณ เรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าผมเองไม่ทราบรายละเอียดว่าอารมณ์ขณะนั้นมันเปลี่ยนผ่านกันอย่างไร ไปเป็นโคตรภูญาณอย่างไร โดยทางทฤษฎีแล้วนั้นผมไม่ทราบ เพราะว่าเวลาฝึกมันก็ไม่ได้มีอะไรบอกเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใดๆมาบอก เวลาฝึกเราก็ฝึกของเราไป ดูอยู่ที่จิต รู้อยู่ที่จิต ทรงสมาธิไว้ให้มั่น ทรงกำลังสติไว้ให้เต็มกำลัง เรื่องอื่นๆไม่ได้สนใจเลย เรื่องภาษาความหมายต่างๆนั้น เป็นการนำมานิยามกันในภายหลัง ส่วนเรื่องรายละเอียดต่างๆในลำดับที่เกิดขึ้นนั้น ท่านผู้รู้ผู้มีความชำนาญมีวาสนาในการปฏิบัติเพื่อจะไปอบรมสั่งสอนผู้อื่นต่อไปนั้น ท่านจะมีความสามารถในการจำแนกแยกแยะต่างๆได้โดยละเอียด ซึ่งผมพบว่า มีเพียงไม่กี่ท่านเท่านั้นที่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงสมแล้วที่ท่านจะไปเป็นครูบาอาจารย์ และก็เหมาะสมแล้วที่ผมจะเป็นผู้หลงในธรรม เพราะไม่สามารถอธิบายรายละเอียดต่างๆได้ขนาดนั้น เหมือนตกจากที่สูง รู้สึกตัวอีกทีก็ตัวกระแทกพื้นเสียแล้ว ตอนกระแทกพื้นแล้วมันเป็นยังไง แบบนี้ก็พอตอบกันได้ครับ

          เมื่อเวลาจะผ่านหรือผ่านจากอารมณ์นิพพิทาญาณนั้น จะสังเกตว่า ใครจะด่าว่า นินทา ใส่ร้ายป้ายสี จะรู้สึกว่ามันไร้สาระ ไม่มีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด ไม่พอใจ เห็นว่ามันไม่ใช่เรืองราวอะไรที่มีสาระเลย คล้ายๆกับเห็นแมลงวันบินผ่านหน้า ผ่านแล้วก็แล้วกันไป ไม่ได้สนใจอะไร เห็นคนชั่วคนเลว เห็นแล้วก็นึกสงสารขึ้นมาแว่บหนึ่งว่า โอ้หนอ ช่างน่าสงสาร สักวันหนึ่งเขาจะได้รับผลกรรมอันแสบร้อนทุกข์ทรมาน แต่เรานี้ไม่เอาด้วยแล้วกับบาปกรรมความชั่วทั้งหลาย ไม่สนใจอยากได้ใคร่ดีกับใคร มีหน้าที่ต้องทำอะไรเราก็ทำหน้าที่นั้นให้ดี ให้สุดกำลัง การงานที่ทำ กิจวัตรที่ทำ ก็ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตรงนีเลยศีล๕ ไปสักหน่อยหนึ่งแล้ว คือไม่ทำตนเป็นทุกข์เป็นโทษให้กับผู้ใด ไม่ต้องละอายและเกรงกลัวต่อบาป เพราะขึ้นชื่อว่าบาป แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ทำ แม้ว่ายังไม่เป็นบาปแต่เป็นต้นเหตุให้เกิดบาป ก็ไม่ทำ ไม่สนับสนุนไม่ยินดีให้ใครต่อใครทำบาป แต่ว่าเห็นใครทำบาปแล้ว ห้ามแล้ว ไม่ฟัง ก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ใช่ว่า โนสน โนแคร์ แต่ว่าแคร์ทุกอย่างที่อยู่ในขอบข่ายของศีล และไม่ก่อให้เกิดโทษ ทุกข์ แต่ตนเอง ต่อบุคคลอื่น ใครจะชมใครจะด่า จะมีลาภจะเสียทรัพย์ จะได้ยศ จะสูญยศ ก็มีอารมณ์เสมอกัน เพราะเห็นว่าในท้ายที่สุดแล้ว ทุกๆอย่างที่ว่ามานั้น มันก็แตกดับสลายหายสูญ เหมือนอย่างที่ผ่านๆมา เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นและแม้ในอนาคตก็ยังคงเป็นเช่นนั้นเอง เราไม่ยินร้าย เราไม่ยินดีในโลกนี สรรพสิ่งในโลกนี้ วัฏฏะสงสารนี้ ใจเราไม่ข้องด้วยแล้ว แต่ว่าเรามีหน้าที่พลเมืองดีอย่างไรเราทำ เรามีหน้าที่เป็นพุทธบริษัท ที่ดีอย่างไรเราปฏิบัติ อะไรที่เป็นสาธารณะประโยชน์ สาธารณะกุศล เราทำสุดกำลัง ทำไปแล้วก็แล้วกันไป ใครจะชมใครจะด่า จะได้บุญมากน้อยเพียงใด ไม่ได้ห่วงกังวลตรงนั้นเลย ให้สังเกตอารมณ์ใจในตอนนี้ว่า ไม่มีจิตคิดเศร้าหมอง แตกต่างจากอารมณ์เบื่อ ที่ปล่อยไว้นานๆก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าได้

          กล่าวโดยสรุปแล้ว อารมณ์เบื่อ เป็นอารมณ์ทางโลก สังเกตที่จิตใจจะรันทด ท้อ ห่อเหี่ยว เศร้าหมอง ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ปัญญาไม่เกิด ส่วนอารมณ์เบื่อในนิพพิทาญาณนั้น เป็นอารมณ์ที่จะก้าวข้ามจากทางโลกไปทางธรรม เป็นความเบื่อจากการเห็นความเป็นจริงที่น่าเศร้าสลด ซ้ำไปซ้ำมา ความจริงที่ว่านี้คือการเปลี่ยนแปลงต่างๆของร่างกายและจิตใจตนเอง เป็นความจริงที่เกิดขึ้นบนโลกนี้และแม้โลกหน้าก็จะเกิดเช่นเดียวกันนี้ และความเห็นนี้จะจบลงตรงที่ไตรลักษณ์เสมอ เป็นความจริงที่ก่อให้เกิดปัญญา เป็นจุดเริ่มต้นในการแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ ดังนั้นนิพพิทาญาณจึงต่างจากอารมณ์เบื่อ ตามความเห็นส่วนตัวของผมเป็นเช่นนี้ ซึ่งท่านทั้งหลายก็อย่าพึ่งเชื่อถือใดๆจากผม เพราะผมยังเป็นผู้หลงในธรรม ยังไม่ได้บรรลุอะไรใดๆทั้งนั้น

         

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑