จิตเดิมแท้ จิตพุทธะ


จิตเดิมแท้

               “จิตของพระพุทธเจ้า จิตของพระอรหันต์ จิตของคนทั้งหลาย จิตของสัตว์เดรัจฉาน จิตของสัตว์นรก ก็เป็นจิตดวงเดียวกัน” ผมไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้ของท่านผู้หนึ่ง ต่อเมื่อมีครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ในลักษณะใกล้เคียงกันนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่สู้จะเห็นด้วยสักเท่าไร เนื่องจากจิตขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จิตของพระอรหันต์ขีณาสพ จะมาเปรียบเทียบกับจิตของปุถุชน จิตของสัตว์เดรัจฉานว่าเป็นจิตดวงเดียวกันนี้ได้อย่างไร ดูจะเป็นการปรามาสครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตเลยทีเดียว ข้าพเจ้ารับไม่ได้ เพราะข้าพเจ้ายังเป็นเพียงปุถุชนคนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ลำพังเอาจิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับกัลยาณชนยังรู้สึกละอายแก่ใจ ซึ่งก็ถูกแล้วเพราะข้าพเจ้าเป็นปุถุชนมีจิตอันหนาแน่นไปด้วยกิเลส จะไปเข้าถึงจิตเดิมแท้ จิตพุทธะ ได้อย่างไร

               ต่อเมื่อผ่านการฝึกฝนจนได้พบเห็นสภาวธรรมตามที่ครูบาอาจารย์ท่านได้เคยกล่าวถึงเอาไว้นั้น และได้พบเห็นจิตเดิมแท้ อันเป็นจิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีมาแต่เดิม จิตประภัสสร หรือจิตพุทธะ หรือจิตหนึ่ง ก็สุดแท้แต่จะเรียกกัน ตามสมมติของแต่ละบุคคล ซึ่งก็คือจิตอันนั้นนั่นแหละ ได้เห็นลำดับการเป็นไปของจิตทั้งในปัจจุบัน ในอดีต และต่อไปในอนาคตแล้ว ดังที่ท่านเรียกว่า ปฏิจสมุปบาท อันพอจะได้รู้ได้เห็นการดำเนินไปของจิตบ้าง แม้จะไม่ละเอียดเด่นชัดอย่างในตำราก็ตาม จึงได้เข้าใจตามที่ท่านเว่ยหลาง หรือท่านฮุ่ยเหนิง  สังฆปริมณฑล ลำดับที่ ๖ เป็นองค์สุดท้ายที่ได้รับบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้า ซึ่งหลังจากนั้นไม่ได้มีการสืบทอดกันอีก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87

               การได้เห็นสภาวธรรมก็ดี การได้เห็นจิตเดิมแท้หรือเห็นจิตในจิตก็ดี เป็นผู้วางแล้วซึ่งการรู้การเห็นเหล่านั้นแล้วก็ดี ก็ไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่าจะเป็นผู้ที่มีความแตกฉานกว้างขวางลึกซึ่งในธรรมทั้งหลายอันมีอเนกนานัปการในวาระนั้นได้แต่อย่างใด แต่ก็ไม่มีผู้ใดเลยที่ได้รู้ได้เห็นสภาวธรรมนั้นแล้วจะหยุดการเจริญภาวนา มีแต่จะภาวนายิ่งๆขึ้นไป ภูมิธรรมก็จะค่อยๆแตกฉาน ลึกซึ้ง กว้างขวาง ถึงอกถึงใจแก่นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ผ่านกาลเวลาไป 6 ปี ข้าพเจ้าจึงพอจะได้รู้เห็นตามที่ท่านเว่ยหลางกล่าวไว้ และเช่นที่ หลวงปู่ดูลย์ ได้กล่าวไว้ถึงจิตพุทธะ จิตเดิมแท้ ซึ่งหากจะไม่อธิบายเอาไว้ ปล่อยให้ครุ่นคิดกันไปเองก็อาจจะเหมือนข้าพเจ้าที่รู้สึกว่าไม่ยอมรับสักเท่าไหร่ เนื่องเพราะแต่ก่อนข้าพเจ้าเพียงใช้สมองอันหลงว่าปราดเปรื่องคิดวิเคราะห์เอา ต่อเมื่อตัดเอาหัวสมองทิ้งไปแล้ว เพียงเหลือแต่จิต และมีใจอันทรงไว้โดดเดี่ยวลำพังแล้ว จึงได้เห็นแบบนี้ว่า

               แต่เดิมนั้น สรรพชีวิตทั้งหลายใน 3 โลก ก็ยังไม่ได้เป็นเทวดา พรหม คน มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน สัตว์นรก ฯลฯ แต่อย่างใด เมื่อตั้งต้นแรกเริ่มนั้น ต่างก็เป็นเพียงดวงจิตที่ประภัสสรดวงหนึ่งเท่านั้น มีสภาพ สภาวะเหมือนๆกัน เป็นแต่เพียงจิตหนึ่งที่ไม่มีชื่อเรียก เป็นเพียงสภาวะๆหนึ่งเสมอกันหมด ต่อเมื่อสภาวะจิต หรือจิตหนึ่ง จิตเดิมแท้ จิตประภัสสร นี้ ถูกกระทบเข้ากับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอันเป็นนามธรรม ที่เป็นสภาวะเช่นกัน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย อุปมาคล้ายกับ ผิวน้ำนิ่งๆ ถูกแรงดึงดูดของดวงจันทร์ในวันเพ็ญ มีการกระเพิ่มไหวเพียงเล็กน้อยแทบไม่สังเกตเห็นได้ ถูกลมพัดผ่านเบาๆให้ผิวกระเพิ่มไหวน้อยๆ ถูกเมล็ดกรวดเล็กๆตกใส่ก็กระเพิ่มไหวมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเกิดลมพายุหอบพัดไปตกในที่ต่างๆยังต้นไม้และชีวิตอื่นๆให้เจริญเติบโตงอกงาม จิตเดิมแท้ที่เป็นประภัสสรก็ค่อยๆมีแสงสว่างอันลดลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความสว่างไสวก็หายไป จิตเกิดเป็นเจตสิกด้วยการเสวยอารมณ์ต่างๆเข้าไป คำว่าเสวยอารมณ์เป็นคนเก่าที่ครูบาอาจารย์ใช้เรียกกัน แต่ว่าจริงๆแล้วจิตไม่ได้มีปาก เสวยอะไรไม่ได้เหมือนกับการเสวยอาหาร แต่การที่จิตกระทบเข้ากับอารมณ์แล้วทำให้จิตแปรเปลี่ยนไปเป็นสภาวะของอารมณ์นั้นๆที่เข้ามากระทบ ก็สมมติเรียกว่าเป็นเจตสิก คือมีลักษณะที่จิตเปลี่ยนรูปไป คล้ายกับน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตามภาชนะที่บรรจุ แม้ว่าจะเป็นน้ำก็มีรูปร่างแตกต่างกันไป จึงนิยามเรียกกันไปต่างๆนานา จนมี 108 บ้าง 120 ดวงจิตบ้าง

               จากดวงจิตที่แปรเปลี่ยนไปตามสภาวะอารมณ์อันเป็นนามธรรมด้วยกันมากระทบกระทั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็เกิดเป็นความทรงจำในจิตคือสัญญา เกิดการปรุงแต่งต่อไปคือสังขาร เมื่อนั้นแล้วอุปทานคือความยึดมั่นถือมั่นในความจำได้หมายรู้(สัญญา)และสังขารที่ปรุงแต่งออกมาโดยมีสัญญาเป็นเชื้อ จึงเกิดเป็นนามรูป คือนามธรรมที่กลายเป็นรูปธรรมเสียแล้ว หมายความว่า นามธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่ถูกรู้แล้วโดยผู้รู้(สติ) หรือนามธรรมที่ถูกรู้ถูกเห็นได้ ก็เรียกว่า นามรูป คือนามที่กลายเป็นรูป แต่ก็ยังเป็นสภาวะอยู่ เพียงแต่เป็นสภาวะหยาบที่สามารถถูกรู้ถูกเห็นได้ มีความยินดียินร้ายเป็นต้น ต่อจากนั้นก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นสุข ทุกข์ นรก สวรรค์ ดี ชั่ว บุญ บาป เกิดเป็นกรรม กำเนิดในโลกทั้ง 3 ภูมิทั้ง 4 มีขันธุ์ๆเดียว มีขันธุ์ 4 ขันธุ์ มีขันธุ์๕ ขันธุ์ แล้วก็เกิดวัฏจักรวนเวียนกันไปไม่รู้จบรู้สิ้น เมื่อผ่านกาลเวลาและเหตุการณ์ต่างๆกันไป แต่ละดวงจิตก็แปรเปลี่ยนไปตาม บุญบารมี หรือว่า บาปบารมี จะชักนำให้พาไป จนในที่สุดบางดวงจิตก็ไปตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณบ้าง บรรลุธรรมขั้นสุด กลับไปหาจิตเดิมแท้ และหลุดพ้นวัฏฏะสงสารบ้าง จิตบางดวงไปเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง สัตว์นรกบ้าง ต่างๆกันไป “แต่เบื้องต้นที่เริ่มถือกำเนิดของสรรพชีวิตนั้น ล้วนแล้วแต่มาจากจิตเดิมแท้ อันมีลักษณะเดียวกันทั้งสิ้น” นี้จึงเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า จิตของพระพุทธะ จิตของพระอริยะ จิตของมนุษย์ จิตของสัตว์เดรัจฉาน จิตของสัตว์นรก มีจิตดวงเดียวกัน เหมือนๆกัน คือหมายถึงการเริ่มต้นถือกำเนิดของจิตเหล่านี้ เป็นจิตที่มีลักษณะเดียวกันมาก่อน

               เมื่อจิตเดิมแท้ เป็นจิตประภัสสร แล้วต่อมาก็แปรเปลี่ยนจนเกิดเป็นตัวเป็นตนวนเวียนไปในวัฏฏะสงสารแล้วนั้น หากฝึกไปจนกลับไปหาจิตเดิมแท้อันเป็นประภัสสรแล้ว วันหน้าก็ต้องถูกสภาวะอารมณ์กระทบกระทั่งแล้วกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกหรือไม่? ข้าพเจ้าเห็นอย่างนี้ว่า จิตเดิมแท้ที่เป็นประภัสสร มีความสว่างไสวนั้น แตกต่างจากจิตของพระอรหันต์ขีณาสพอยู่เพียงแค่คำว่า “รู้” เพียงเท่านั้น จิตเดิมแท้ที่ยังถือกำเนิดและวนเวียนตายเกิดในวัฏฏะสงสารได้นั้นเพราะขาดคำว่า”รู้” ต่อเมื่อ บุคคลทั้งหลายได้ฝึกฝนจิตของตนจนเข้าถึงสภาวะจิตเดิมแท้ไปพร้อมๆกับผู้รู้(สติ) จึงจะพ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารได้ ซึ่งแตกต่างจากจิตเดิมแท้ที่เป็นประภัสสรนั้นคือยังมีความไม่รู้(อวิชชา) พระท่านจึงกล่าวถึงอวิชชาว่าเป็นต้นกำเนิดของการเกิดภพชาติ เกิดสังขาร อภิสังขาร เกิดวัฏฏะสงสาร เมื่อผ่านการเจริญภาวนาจนจิตเดิมแท้มีความรู้ดีแล้ว(คืออวิชชาสิ้นไปแล้ว) เมื่อนั้นจิตเดิมแท้ก็ไม่มีการเวียนตายเวียนเกิดอีกต่อไป ถึงการดับสนิทไม่มีเชื้อ ที่เราทั้งหลายสมมติเรียกว่า พระนิพพาน

               จิตเดิมแท้อันมีผู้รู้กำกับอยู่นั้น มีลักษณะพิเศษบางประการที่ข้าพเจ้าพอจะสังเกตเห็นได้คือ จิตเดิมแท้นี้ จะเกิดหลังจากที่จิตเห็นจิต แล้วปล่อยวางจิตนั้นลงเสียแล้ว จึงได้เห็นจิตเดิมแท้ปรากฏขึ้น และเมื่อรู้ในรู้ หรือรู้เห็นรู้จนวางตัวรู้คือสติลงแล้ว จึงได้เห็นรู้ในรู้ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากสติ เพราะจิตเดิมแท้นี้จะไม่หวั่นไหว สั่นคลอน ไม่แปรเปลี่ยนใดๆอีกต่อไป เป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา แตกต่างจากจิตที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ที่ยังเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ส่วนผู้รู้ของจิตเดิมแท้ก็เช่นกัน เป็นผู้รู้ที่รู้แจ้ง เป็นนิจจัง สุขขัง เป็นอัตตา แตกต่างจากผู้รู้คือสติ ในปัจจุบันนี้ที่ยัง มีบ้างไม่มีบ้าง เกิดๆดับๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยังต้องคอยกำกับว่าสักแต่ว่ารู้นะ อย่าไปยึด รู้แล้ววาง ซึ่งแตกต่างจากผู้รู้ในรู้ ที่รู้แจ้งแล้ว ไม่สั่นไหว ไม่แปรเปลี่ยน ไม่ต้องควบคุมบังคับ กำกับใดๆต่อไปอีก เมื่อจิตเดิมแท้กับผู้รู้แจ้งปรากฏขึ้นพร้อมเพียงกัน อวิชชาของจิตเดิมแท้ก็ไม่มีอีกต่อไป ภพชาติ การเวียนว่ายตายเกิดก็ไม่สามารถมีได้อีกต่อไป เมื่อนั้นก็จะเข้าถึงสภาวะ สภาวะหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวะ หรือมิใช่เป็นสภาวะ คล้ายๆจะอยู่เหนือคำว่าสภาวะขึ้นไป เหนือรูป เหนือนาม เหนือเกิด เหนือดับ เหนือไตรลักษณ์ ซึ่งก็ไม่ทราบจะสมมติเรียกว่าอย่างไรดี...ตรงนี้ก็สุดแท้แต่ท่านผู้อ่านทั้งหลายจะสมมติเรียกกัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑