วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1


วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1


               ในวัย 4-5 ขวบ พอจะเริ่มจำความได้ เวลานั้นก็เริ่มฝึกสมาธิ โดยไม่รู้ว่านั่นคือสมาธิ เพ่งแสงสว่าง โดยไม่รู้ว่านั่นคือ กสิณ ไม่รู้จักคำบริกรรม ยังไม่รู้จักองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้การจับลมหายใจเข้า หายใจออก ไม่รู้อะไรทั้งนั้น มีความรู้สึกอย่างเดียวคือทำลงไปแล้วมีความรู้สึกสบายใจ มีความสุขใจดี ก็ไม่ได้รู้สึกว่าสุขจนเลิศเลอ ยิ่งกว่าสุขทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ก็หาไม่ สุขก็สุข สบายใจก็สบายใจ ก็แค่นั้นเอง ไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดาร รู้เพียงเท่านี้ ตามประสาเด็ก ความรู้ในช่วงเวลานี้แม้ดูว่าจะโง่ไปสักหน่อย แต่ก็นับว่ามีประโยชน์ในวันที่หลงทาง เพราะประสาเด็ก ที่ฝึกโดยไม่ได้คาดหวังสิ่งใดๆ ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดๆ หวังเพียงความสบายใจเพียงอย่างเดียว ไม่มีความรู้ใดๆเข้ามาปะปน อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกสมาธิที่ถูกต้องแล้วก็เป็นได้

               เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับความรู้ที่ได้จากการอ่าน จากการฟัง จากการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ การถกเถียงกับท่านผู้รู้ การสอบถามจากครูบาอาจารย์ ตั้งแต่การเขียนยันต์ เรียนคาถาอาคม ดูลายมือ เลข๗ตัว อานาปาณสติ วิปัสสนาด้วยการยกมือแบบช้าๆ เดินช้าๆ การฝึกวิชชาธรรมกาย มโนมยิทธิ การฝึกสติสายหลวงพ่อเทียน การฝึกสมาธิในสายฤาษี การฝึกโคจรลมปราณ ฯลฯ การฝึกวิชาต่างๆเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นความรู้ และจะรู้ได้จริงก็ต้องฝึกให้สุดตามที่ครูบาอาจารย์นั้นๆท่านถ่ายทอดเอาไว้ จบหลักสูตรแล้วก็เอามาทบทวนซ้ำไปซ้ำมา หาจุดอ่อนจุดแข็ง ข้อบกพร่อง ข้อสงสัยต่างๆ จนกว่าจะสิ้นสงสัยแล้ว ก็เป็นอันว่าพอจะระงับเอาไว้ได้ บางวิชาเมื่อฝึกไปจนสุ่มเสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์ อันนอกลูกนอกทางจากที่พระพุทธศาสนาตีกรอบเอาไว้ อันนี้ก็ต้องยุติลง แบบนี้ก็มี

               ในอดีตนั้น การฝึกภาวนา ผมไม่ได้แยกสมาธิออกจากวิปัสสนาแต่อย่างใด การฝึกจะเรียกรวมๆกันว่า การเจริญพระกรรมฐาน คือพื้นฐานของการกระทำ มีอานาปาณสติ เป็นกรรมฐานกองหลัก เป็นกรรมฐานในฐานกายที่ละเอียด เป็นเหตุให้เข้าถึงฌาน ๔ ได้โดยง่าย กรรมฐาน๕ที่ครูบาอาจารย์มอบให้ต่อมาคือ เกศา โลมา นักขา ทันตา ตะโจ (เส้นผม, เส้นขน,เล็บ,ฟัน,หนัง) กรรมฐานนี้ก็เป็นฐานกาย เป็นกายหยาบ ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องแหวก หรือควัก หรือ ฉีก ออกมาเพื่อให้เห็น ไม่ต้องอาศัยทิพยจักขุญานก็สามารถมองเห็นได้ถึงความสะอาดหรือสกปรก การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มองเห็นไตรลักษณ์ได้โดยง่าย จึงอาศัยเป็นพื้นฐานในการพิจารณาวิปัสสนาได้เป็นอย่างดี

               วันเวลาผ่านไป ผู้คนเริ่มสร้างความแตกต่างเพื่อความเหนือกว่า เริ่มมีสำนักวิปัสสนา ที่ปฏิเสธการนั่งสมาธิที่มีมาแต่เดิม “ตั้งกายให้ตรง ดำริจิตให้มั่น ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หายใจเข้าสั้นก็รู้อยู่ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจเข้ายาวก็รู้อยู่ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้” คำสอนในการเริ่มต้นฝึกสมาธิ ถูกผลักให้ไปเป็นสมถกรรมฐาน หรือสมถภาวนา และการลืมตา เคลื่อนไหว สติตามดูจิต ถูกแยกให้เป็น วิปัสสนาภาวนา จนกระทั่งกลายเป็นว่า การนั่งสมาธิหลับตา กลายเป็นการทำสมาธิแบบตอไม้ สมาธิแบบโง่ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร สู้การฝึกแบบลืมตา เจริญสติ ตามรู้ตามดูจิต เพื่อเดินทางปัญญา พ้นทุกข์ได้ถูกต้องตรงทางกว่า

               กาลต่อมาก็มีการนำเอาวาทะกรรมต่างๆมาสร้างขึ้นเพื่อให้ตนเองได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมขั้นสูงสุดยอด ได้แก่การนำเอาคำกล่าวขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามาคิดวิเคราะห์ ต่อเติมคำบรรยายไปตามที่ตนเองจะคิดค้นขึ้นมา แล้วบอกว่าเป็นพุทธะวัจจนะ เป็นการยกเอาคำสอนบางคำที่เข้ากันด้วยกับฑิฐิของตนมาแสดง เพื่อให้สาวกได้ฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา เพื่อให้ได้รับการยกย่อง มีชื่อเสียง จนมองเห็นการปฏิบัติธรรมแต่เดิมกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นใดๆ  มีการสร้างคำกลต่างๆ เพื่อให้ดูว่าเป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว เช่น ว่างในว่าง , ไม่เอาอะไรทั้งนั้น, ไม่อะไรกับอะไร ฯลฯ จนในที่สุด ก็เริ่มหลงธรรม ถอยห่างจากการปฏิบัติธรรมตามแบบที่ครูบาอาจารย์เคยสอนเอาไว้ เหมือนดังคำทำนายของหลวงปู่มั่น ที่เคยกล่าวไว้ว่า ต่อไปจะมีคนเดินแตกแถวลงข้างทางบ้าง บางคนจะเดินแซงหน้าขึ้นไปบ้าง จะมีบ้างที่เดินตามหลังท่าน ทุกวันนี้ก็ได้เห็นจริงแล้วว่า พระที่ปฏิบัติตามคำสอนของหลวงปู่มั่นมีรูปใดบ้าง ที่อวดเก่งเกินหน้าหลวงปู่มั่นไปนั้นเป็นอย่างไร ที่ปฏิบัตินอกลู่นอกทางที่หลวงปู่มั่นสอนเอาไว้นั้น เป็นอย่างไร มีให้เห็นทุกๆอย่างแล้วในทุกวันนี้

               2600 ปีก่อน เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงสำเร็จญาณ ๔ อรูปญาณ ๔ แต่ก็ไม่สามารถบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อการหลุดพ้นแต่อย่างใด ทรงทรมานพระวรกายตลอดเวลา ๖ ปี ก็ไม่สามารถบรรลุมรรคผลเช่นกัน จนมาค้นพบการเจริญสติ เป็นทางสายกลาง ทรงนั่งพิจารณาถึงเมื่อครั้งพระชนมายุ ๗ พรรษา นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ พิจารณาลมหายใจเข้า หายใจออก จากอนุสติ จนเป็นมหาสติ ก็ทรงนั่งขัดสมาธิ หลับตา ก็ไม่ได้ทรงเสด็จจงกรม หรือลืมตาคิด พิจารณา แต่อย่างใด เป็นการนั่งสมาธิเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือทรงเจริญสติไปด้วย จนภายหลังได้ทรงนำสติปัฎฐาน ๔ มาตรัสสอนสาวกทั้งหลาย

               คนหลงในธรรมจำพวกหนึ่งก็นั่งขัดสมาธิ หลับตา ไม่รับรู้อะไรใดๆทั้งนั้น หลบอารมณ์ของตน เพียงได้รู้สึกมีความสุขใจ ไม่ได้สนใจว่าจะมีปัญญาอย่างไรเกิดขึ้น ไม่แสวงหาความหลุดพ้น เมื่อกระทบกับอารมณ์อะไรเข้าก็หนี ก็หลบอารมณ์ ไปเข้าสมาธิหลับตา พอใจสงบก็ออกจากสมาธิ แล้วก็หลงว่าตนเองนี้ดีแล้ว เก่งแล้ว เข้าถึงธรรมแล้ว คนจำพวกนี้ทำสมาธิได้ แต่พ้นทุกข์ไม่ได้ ทำได้เพียงหนีทุกข์ หรือหลอกตัวเองชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น สมาธิที่ไม่เกิดปัญญานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงตรัสสรรเสริญ แต่ก็สามารถฝึกได้ ให้เป็นพื้นฐานของจิตใจ ให้เกิดพละกำลังใจ

               คนหลงในธรรมอีกจำพวกหนึ่งก็ถือเอาการไม่นั่งสมาธิ ไม่หลับตา เห็นอารมณ์อะไรเกิดขึ้นมาก็ตัดมันทิ้งไป เอาแต่ความว่างเท่านั้น ต่อมาก็ถือเอาว่าความว่างนี้ก็ไม่ใช่อีก ความว่างนี้เราก็ไม่เอา ไม่ยึดอะไรใดๆทั้งนั้น ให้ฝึกเดินจงกรมก็ไม่เอา นั่งสมาธิก็ไม่เอา ปฏิเสธทุกอย่าง เพราะไม่ต้องการจะไปยึดกับอะไรหรืออะไรใดๆทั้งนั้น คนจำพวกนี้ยังมีความโกรธที่แก้ไม่ได้ มีความโลภที่รู้เห็นอยู่แต่กำจัดไม่ได้ มีความหลงตัวเท่าภูเขา ใหญ่เสียจนตนเองมองไม่เห็นว่านี้คือความหลง ไม่มีใครบอกใครสอนได้ เพราะอัตตาตัวตนนี้ใหญ่โตแล้วเหลือเกิน คนหลงในธรรมจำพวกนี้มีรัก โลภ โกรธ หลง ครบทุกประการ ไม่เจือจางลง ไม่ลดลง ซึ่งถ้าปฏิบัติตนถูกต้องตามที่ครูบาอาจารย์สอนเอาไว้แล้ว รัก โลภ โกรธ หลง ต้องลดลง แต่นี่ไม่ลดลงแล้วยังหลงว่าตัวเองปฏิบัติถูกทางได้อย่างไรกัน?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑