ผู้ไม่ยึดติด(2)

ผู้ไม่ยึดติด(2)

                การเป็นผู้ยึดติดนั้นหมายเอาถึงผู้ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนนี้ว่านี่คือตัวเรา เมื่อมีตัวเราแล้วจึงมีตัวเขา ของเรา ของเขา เกิดสืบเนื่องกันต่อๆไปวนเวียนสลับซับซ้อนกันไปหาที่สุดไม่ได้ การหยุดวัฏจักรนี้จึงต้องหยุดที่การยึดมั่นถือมั่นว่านี่คือตัวตนของเรา เมื่อตัดตรงนี้ได้แล้ว วัฎจักรก็หมุนของมันไปนั่นแหละ แต่เราไม่หมุนไปด้วยกับวัฎจักรอีกต่อไปแล้ว การจะตัดความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือว่า สักกายะฑิฐินั้น ครูบาอาจารย์สอนโดยอาศัย สติปัฎฐาน4 วิปัสสนาญาณ9 อสุภะ10 ธาตุ4 อาการ 32 กายคตานุสติกรรมฐาน มีอยู่มากแล้วด้วยกัน ซึ่งในที่สุดแล้ว เมื่อได้รู้ธรรมเห็นธรรมอันบังเกิดแก่จิตโดยไม่มีภาษา ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ไม่มีเบื้องหน้า ไม่มีเบื้องหลัง ไม่มีที่มา ไม่มีที่ไป ในสภาวธรรมที่แจ้งกระจ่างในใจตนถึง สัจจะความจริงถึงการไม่มีอยู่ของตัวตนอย่างแท้จริงแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นใจตัวตนจึงจะสลายหายไปเองใน ณ บัดนั้นเอง โดยไม่มีใครมาทำลายมันลง และไม่มีใครเอาอะไรมาเติมใส่เข้าไป ปัญญาของตนเองนั้นจะแจ้งด้วยตัวของมันเอง ความเชื่อก็หมดไป ความไม่เชื่อก็หมดไป ความสงสัยก็หมดไป จิตก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง ถึงความเป็นไปเช่นนี้เองของชีวิต จิต สังขาร ซึ่งแม้จะคงอยู่ ก็คงอยู่ไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ได้สิ้นไปแล้วจากความยึดมั่นถือมั่น หรือจะกล่าวว่า ยึดแต่ก็ไม่มั่น ถือแต่ก็ไม่มั่น คือยึดเอาเพียงเท่าที่จะดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติสังคมที่เขาทำกัน ถือเอาไว้แต่ก็ไม่มั่น เอาแต่ว่าทางโลกเขาทำกันสังคมเขาทำกันอย่างไรก็ประกอบกิจไปตามนั้น สิ้นลมหายใจ เมื่อไรก็หมดหน้าที่กัน ไม่เอาอะไรกับสังขารร่างกายนี้อีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ไม่ยึดติดจึงมีลักษณะหรือความประพฤติทำนองนี้คือ

1.              1. เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว  ก็เนื่องมาจากเป็นคนไม่มีความยึดมั่นในตัวเองแล้วจะมีตัวเองให้เห็นแก่ตัวได้อย่างไร คนผู้ไม่ยึดติดแล้วนั้น เมื่อจะทำกิจเพื่อสาธารณะก็ดี เพื่อส่วนรวม เพื่อคนรอบข้างก็ตาม จะไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย จะลงมือทำด้วยความเต็มใจ ใครจะว่าหน้าโง่ทำอยู่คนเดียว คนอื่นไม่เห็นทำเลย โดนคนเขาเอาเปรียบ ความคิดเห็นเหล่านี้ไม่สะเทือนจิตใจของผู้ไม่ติดยึดเลย มีเพียงศีลเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลผู้ไม่ยึดติดนี้ เห็นว่าสมควรนำมาเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาในกิจที่ตนพึงกระทำ  ถ้าสิ่งที่ทำลงไปไม่ผิดศีล เป็นประโยชน์แล้วนั้น ท่านเหล่านี้จะยินดีทำ ด้วยใจดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อเหนื่อยก็หยุดพัก พอหายเหนื่อยก็ทำต่อไปจนสำเร็จลุล่วง เมื่อสำเร็จลุล่วงไปแล้วก็พลอยยินดีแล้วไปทำอย่างอื่นต่อ การทำกิจอันเป็นประโยชน์นี้ ท่านก็ไม่ได้ทำจนร่างกายต้องลำบากเจ็บป่วย หรือทุกข์ทรมานร่างกายแต่อย่างใด จะไปบอกว่าไม่ยึดติดร่างกายนี้แล้ว ก็ใช้มันไปไม่ต้องห่วงป่วยห่วงตายสิ แบบนั้นมันเป็นเรื่องของคนโง่  คนที่โง่แบบนั้นจะรู้ธรรมเห็นธรรมจนวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองไม่ได้เลย การจะละความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองได้ต้องเป็นคนฉลาดเท่านั้น เป็นผู้มีสติ รู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับจิตของตนดีแล้ว รู้เหตุ รู้ผล รู้ตนเอง รู้กาลเทศะ รู้กาลว่าควรไม่ควร นี่จึงเป็นลักษณะหนึ่งของผู้ไม่ยึดติด คือไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว


2.              2. เป็นผู้ไม่ยินดี และไม่ยินร้าย ในคำสรรเสริญ และคำนินทา ก็ในเมื่อร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว การจะด่าว่าร่างกายนี้ ก็เท่านั้น ไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ หรือการจะชมร่างกายนี้ ก็เช่นเดียวกัน ท่านผู้ไม่ยึดติดแล้ว ไม่เห็นความแตกต่างทั้งคำนินทาและคำสรรเสริญ จะเปรียบเทียบไปก็เหมือนกับการที่เราไปเช่ารถเขามาขับ คนจะชมว่ารถคันนี้สีสวย มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเพราะมันไม่ใช่รถของเรา ใครจะด่าว่าสีรถน่าเกลียด มันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเช่นกัน จะไปยินดีกับคำชมหรือจะไปเดือดร้อนกับคำด่า มันก็ไม่มีค่าไม่มีความหมาย ไม่แตกต่างอะไรเลย เพราะมันไม่ใช่รถของเรา สำหรับท่านที่ไม่ยึดติดนั้น ท่านจะทำสิ่งใดก็ตาม จะอยู่ในขอบเขตของศีล จะไม่ละเมิดศีล และก็ไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ไประราน ระเบียบประเพณีที่สังคมนั้นๆถือปฏิบัติกัน แม้กระนั้นก็ตามย่อมต้องถูกนินทาว่าร้าย อันเป็นเรื่องปกติของโลก ท่านเหล่านี้ย่อมพิจารณาดีแล้วว่า นี่เป็นของธรรมดา จึงไม่ได้หวั่นไหวไปด้วยคำนินทา สำหรับคำชมก็เช่นกัน ท่านเหล่านี้ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อทำสิ่งใดลงไปย่อมมีทั้งคนนินทา และคนสรรเสริญ หรือแม้ไม่มีคนสรรเสริญ ท่านเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าได้สูญเสียอะไรไป เพราะว่าไม่มีอะไรจะให้สูญเสีย ท่านเหล่านี้จึงลงมือทำสิ่งใด เพราะสิ่งนั้นสมควรทำ มีประโยชน์ต่อตนเอง ต่อคนรอบข้าง ต่อส่วนรวม หรือคนหมู่มาก ท่านก็ทำลงไป ไม่ได้ยินดี ยินร้าย ต่อคำกล่าวชม หรือด่าว่า แต่อย่างใด เพราะคนที่ไม่ยึดติดในตัวตนแล้ว ย่อมไม่มีตัวตนให้ด่า หรือให้สรรเสริญ ได้อีกแล้ว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑