กรรม ตอนที่ 2

กรรม ตอนที่ 2

สัญญา

                สัญญาคือความจำได้หมายรู้ เป็นความหมายที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นอย่างดี เรียนมาฟังมาก็เป็นแบบนี้ แต่ว่าในที่นี้ จะขอแยกสัญญาออกเป็นสองประการ ตามประสาผู้หลงในธรรม ท่านผู้อ่านทั้งหลายก็ขอได้โปรดอย่าถือสา เพราะว่าผู้เขียน เขียนตามประสาผู้ที่หลงในธรรม ไม่ได้เขียนในฐานะผู้บรรลุธรรม ดังนั้นอย่าถือเอาเป็นเรื่องทะเลาะถกเถียงกันนะครับ
                สัญญา ประการที่หนึ่งคือ ความจำได้ของสมอง ซึ่งเราทุกคนเรียนรู้ จดจำสิ่งต่างๆนับตั้งแต่เกิด จนวันตาย อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ก็มาจากความทรงจำส่วนนี้ จากสมอง ที่มีลืมกันบ้าง ก็เรียกกันไปว่า สัญญาไม่เที่ยง สัญญาอนิจจา พอสมองได้รับความกระทบกระเทือนก็เกิดความจำเสื่อม หรือพอแก่ตัวเป็นอัลไซเมอร์ก็จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว
                สัญญาประการที่สองคือ ความจำได้ของจิต หรือจะเรียกว่าความทรงจำของจิต ที่หลายคนระลึกชาติได้ก็อาศัยสัญญาในส่วนนี้ ตามเดิมนั้นสัญญา สังขาร อุปทาน รวมกันอยู่กับจิต ภายหลังเมื่อข้าพเจ้าเห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม แล้วได้ย้อนกลับออกมาพิจารณาอยู่ภายนอกแล้วนั้น จึงได้เห็นว่า จิตก็อยู่ส่วนจิต สังขารก็อยู่ส่วนสังขาร สัญญาก็อยู่ส่วนสัญญา อุปทานก็อยู่ส่วนอุปทาน หาได้เกี่ยวข้องกันไม่ แต่ว่ามีส่วนเกี่ยวเนื่องโยงใย ก่อเกิด สอดรับกัน คล้ายๆกับฟันเฟืองเครื่องจักรที่ทำงานร่วมกันของนาฬิกา แต่ว่าเป็นสภาวะ ไม่ได้เป็นรูปธรรม คือไม่มีรูปร่างหน้าตา แต่ถ้าอธิบายแบบนี้ก็จะไม่สามารถอธิบายต่อไปได้ จึงได้สมมติรูปร่างของสัญญา ขึ้นมา ซึ่งผู้ที่นิยมในแนวทางอภิญญา ก็จะมองเห็นเป็นลูกกลมๆ ใสๆคล้ายๆแก้ว เป็นลูกบอลขนาดใหญ่ จะใหญ่มากน้อยก็จะต่างกันขึ้นกับภพชาติที่ผู้นั้นบำเพ็ญบารมีกันมา หรือเคยเกิดกันมา
                ความทรงจำที่บันทึกไว้ที่สัญญานี้ จะเหมือนเพียงผลึกเล็กๆที่อยู่บนผิวของทรงกลมแก้วนี้ โดยผลึกเล็กๆนี้จะมีข้อมูลของการกระทำของเราเองโดยมีกรรมทั้ง4ประการเป็นตัวกำหนด ซึ่งมีความพิเศษกว่าการบันทึกของฮาร์ดดีสในปัจจุบันก็คือ สามารถบันทึกความรู้สึกใดๆในเวลานั้นๆ รสชาติ อารมณ์ ทัศนคติในเวลานั้น ความรัก ความแค้น ที่เป็นนามธรรมก็ถูกบันทึกเอาไว้ด้วย และบันทึกไว้เป็นแบบ3มิติคือมองเห็นกว้างยาวลึกได้ด้วย มีสภาพที่สมจริงมาก ในทรงกลมนี้จะอัดแน่นไปด้วยข้อมูลความทรงจำในอดีตมากมายนับอสงไขยกัลป์ไปจนถึงจุดเริ่มต้นของการเกิดของคนๆนั้นว่ามาจากที่ใด การระลึกชาติก็คือการย้อนเข้าไปอ่านความทรงจำเหล่านี้จากภายในจิตของตนเอง ชาติที่ไกลออกไปก็จะอยู่ลึกลงไปในทรงกลมนี้เรื่อยๆ ผู้เจริญสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ก็จะสามารถรู้อดีตชาติของตนได้ ซึ่งโดยมากจะรับรู้เพียงส่วนผิวของทรงกลมภายนอกนี้เท่านั้น มีเพียงผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจึงจะสามารถอ่านข้อมูลทั้งหมดของกรรมเหล่านี้ที่ตนเคยประสบได้ ซึ่งการที่ต้องอ่านได้ทั้งหมด ก็เพราะทรงถือกำเนิดมาหมดสิ้นแล้วทุกสรรพสิ่งมีชีวิตในทุกฐานะสภาวะทุกๆอย่าง เพื่อจะนำเอากฎของกรรมนั้นๆมาถ่ายทอดต่อผู้อื่นด้วย เพื่อนำมาเป็นเหตุในการพิจารณา กรรมของสัตว์ทั้งหลายเพื่อจะได้เทศนาได้ถูกต้องตรงตามนิสัยของสัตว์เหล่านั้น เมื่อไม่ใช่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไปล่วงรู้ในสิ่งเหล่านี้ และแม้จะเป็นพระโพธิสัตย์ที่มีบารมีเต็มแล้ว ก็ไม่ใช่วาระที่จะล่วงรู้ได้ทั้งหมด ต่อเมื่อตรัสรู้แล้ว การรื้อขนสัตว์ทั้งหลายต้องมารื้อที่ตัวสัญญาตรงนี้ ไม่ใช่ไปรื้อขนลิง ขนสุนัข ขนแมว ทั้งหลายนั้นไม่ใช่ มารื้อตรงสัญญาเดิมทั้งหมดตรงนี้ ซึ่งเหลือวิสัยสำหรับสาวกภูมิทั้งหลายจะทำได้ จนต้องละไว้ว่านี่คือเรื่องอจินไตย
                ดังนั้นต่อจากนี้ไปก็จะขอเรียกสัญญาคือความจำจากสมองว่า สัญญาภายนอก และเรียกสัญญาคือความทรงจำที่จิตว่าสัญญาภายใน ตรงนี้เป็นศัพท์บัญญัติเอง ไม่ทราบว่าจะไปตรงกับพระอภิธรรมหรือคำบรรยายใดๆของท่านผู้ทรงคุณทั้งหลายมาก่อนหรือไม่ ก็ต้องขออภัยที่ต้องบัญญัติลักษณะนี้เพราะว่าผู้เขียนนึกไม่ออกว่าจะสมมติอย่างไรดี ก็ขอให้ถือเสียว่าเป็นศัพท์บัญญัติเฉพาะสำหรับเล่าเรื่องราวการหลงในธรรมของผู้เขียนนี้ เพื่อที่ท่านจะได้อ่านต่อไปแล้วเข้าใจไปในแนวเดียวกัน ไม่ควรนำไปใช้กับผู้อื่นเพราะจะพากันงงมาก

                สัญญานี้เองเป็นตัวบันทึกกรรม จากสัญญาภายนอก บันทึกลงสู่สัญญาภายใน สัญญาภายนอก เกิดจากการรับรู้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ประมวลผลโดยสมอง แล้วเกิดความรู้สึกลงที่ใจ ส่งมาบันทึกเอาไว้ที่สัญญาภายใน สัญญาภายในก็ส่งผ่านใจออกมาที่สมองกลายเป็นความประพฤติ ความเชื่อ ฑิฐิ สันดาน ที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน และด้วยสันดานที่ต่างกันนี้ ก็ทำให้สมองคิดนึกไปในทิศทางที่ต่างๆกัน แล้วพูด ทำสิ่งต่างๆลงไป จากนั้นก็จะย้อนกลับมาจดจำเรื่องราวต่างๆไว้ในสัญญาภายใน หมุนวนเวียนไปแบบนี้ ทับซ้อนไป ซ้อนมา หาที่สุดที่ประมาณไม่ได้เลย 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑