ถูก ผิด


ถูก ผิด ไม่มีในหมู่อริยะชน

                ธรรมดาของผู้ภาวนา เมื่อได้เห็นสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นอยู่ภายใน กระจ่างแจ้งแก่ใจดีแล้ว ย่อมสิ้นสงสัยในความเป็นสมมติบัญญัติและย่อมสิ้นสงสัยในปรมัตถสัจจะว่า สิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นมี หรือมีในสิ่งนั้น หรือสิ่งนั้นยังมี เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมจะเห็นถูกหรือผิด เป็นแต่เพียงสมมติของทางโลก พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงวางลงเสียเช่นกัน ผลของการวางลงเสียแล้วซึ่ง ถูก ผิด นี้ มีลักษณะที่แสดงให้เห็นในทำนองนี้คือ

                ถูก ท่านก็เห็นว่าถูกทั้งนั้นแหละ มันก็ถูกของโลก คนเชื่อเครื่องรางของขลังมาถามท่าน ท่านก็ว่าถูกของเขา ในโลกนี้แล้วสำหรับท่านผู้ได้เห็นสภาวธรรมแล้วท่านก็ว่ามันไม่มีอะไรผิดหรอก จะว่าไปแล้วมันก็ถูกทั้งหมดนั่นแหละ แต่ละคนก็มีเหตุผลของตนเองที่จะเชื่อ ที่จะทำ มันก็ถูกของเขา ตามสมมติของเขา ตามที่เขายึดมั่นถือมั่นในสมมตินั้นๆ ดังนั้นการที่จะไปว่าใครว่าผิด ท่านเหล่านี้จึงไม่กระทำ วันๆท่านก็จะยิ้มน้อยๆ พูดไม่มาก แต่ว่าคำพูดท่านที่กล่าวมาจะไม่มีโทษกับใครๆ มีเมตตาสูง แม้กระนั้นเองท่านก็ไม่ได้ยึดในเมตตานั้น ด้วยเห็นว่าเมตตานี้ก็สมมติอยู่ดี ส่วนถ้าใครจะทำชั่ว ทำบาป ละเมิดศีล ท่านไม่ว่า แต่ท่านก็ไม่ยุ่งด้วย ไม่ยินดีด้วย แล้วท่านก็ไม่กระทำการใดๆที่จะละเมิดศีล แม้จะเห็นว่า ศีลนี้ก็เป็นเพียงสมมติของโลก แต่ว่าทำให้โลกนี้สงบ ไม่เร่าร้อน ท่านก็รักษาศีลเป็นปกติ  ศีลนี้ยังความสงบเย็นให้ท่านนี่คือศีลรักษาท่าน ใครจะทะเลาะกัน ขัดแย้งกันอย่างไร ท่านไม่เข้าไปร่วมด้วย จะถามหาให้ท่านตัดสินความให้ ท่านก็จะยกเอาธรรมขึ้นมาเป็นตัวอย่างให้ฟัง ถ้าให้ท่านตัดสินใครถูก ผิด ท่านก็จะว่าถูกทั้งนั้น มันถูกของเขา ถูกตามสมมติของโลกที่ปุถุชนยึดมั่นถือมั่นกันมา

                ผิด ท่านก็จะเห็นว่า ผิดทั้งนั้นนั่นแหละ จะถูกได้ยังไงก็มันเป็นของสมมติทั้งนั้น ตัวกูก็สมมติขึ้น โกรธก็สมมติ โลภก็สมมติ ไม่มีอะไรเป็นของจริงสักอย่างเดียว แล้วมันจะถูกได้ยังไง ถ้าจะถูกก็มีแต่ปรมัตถธรรม ปรมัตถสัจจะเท่านั้น ซึ่งก็เอามาใช้พูดจากันเป็นภาษาไม่ได้ ถ้าเอามาพูด มาพิมพ์ มาเขียน มาเล่าสู่กันฟังได้ มันก็ผิดเสียแล้ว เพราะธรรมนั้นก็กลายเป็นของสมมติไปเสียแล้ว ท่านจึงว่าผิด ใครจะถามอะไรมาว่าถูกหรือผิด ท่านก็ว่าผิด คนไปนิยมพระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง ท่านก็ว่าผิด ก็เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นแต่เพียงของสมมติขึ้นของทางโลกๆนี้เท่านั้น เป็นแต่เพียงปุถุชนสมมติกันขึ้นมา ใครจะว่านั่งสมาธินี้ถูกไหม ท่านก็ว่าผิด เพราะท่านั่งสมาธิก็สมมติกันขึ้นมา ฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 ก็สมมติกันขึ้นมาทั้งนั้น ฝึกไปจนถึงที่สุดแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีฌานอะไรพวกนี้เลย เป็นแต่คนเราเอามาสมมติเรียกกัน ฌานเองก็ไม่ได้รู้เรื่องด้วย รวมความแล้ว ท่านว่า สรรพสิ่งบนโลกที่คนเราทั้งหลายต่างพากันสมมติขึ้นมา แล้วพากันยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเองสมมตินั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความผิดทั้งสิ้น ไม่มีถูกเลยแม้แต่อย่างเดียว หากจะบอกว่ามีสิ่งใดถูกต้องสำหรับท่านแล้ว ก็คงเป็นปรมัตธรรมที่หลุดพ้นจากการยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เห็นว่าจะถูก แต่พอพูดคำว่า ถูก ออกมา มันก็กลายเป็นผิดไปเสียแล้ว แต่ว่าท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็ไม่ละเมิดศีล ไม่ทำความชั่วใดๆทั้งสิ้น อาจจะมีดุ ด่า ก็เพื่อกระแทกกิเลสของคนทั้งหลาย ให้พ้นจากสมมติออกมา ให้ได้สติว่า นี่มันสมมติทั้งนั้น แกอย่าไปหลงผิดคิดยึดมันเอาไว้ มันจะเป็นทุกข์

                ถูก ผิด ของอริยะบุคคลนั้น เป็นสิ่งสมมติไม่ได้เป็นสิ่งที่ท่านเหล่านี้ใช้เป็นที่ยึดถือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าท่านจะทำผิด ทิ้งถูก หรือทำถูกแล้วด่าผิด หรือไม่ทำตามระเบียบข้อบังคับสังคม หรือจะไปละเมิดพระวินัย ท่านทั้งหลายเหล่านี้จะทำตามระเบียบ ตามกฎหมาย ตามพระวินัย ทุกๆประการ แต่ว่าไม่ยึดในสิ่งที่กระทำลงไป ท่านทั้งหลายเหล่านี้ จะไม่ทำบาปทั้งปวง และย่อมไม่ยึดในบาปกรรมใดๆด้วยเช่นกัน

                พวกเราในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็อย่าพึ่ง เห็นช้างขี้แล้วขี้ตามช้าง ให้พิจารณาว่าเพราะเหตุใด ท่านทั้งหลายเหล่านี้จึงมีผลเป็นเช่นนั้น นั่นก็คือการเจริญสมาธิจิต มีการภาวนา การเจริญสติ เลือกเฟ้นพิจารณาธรรมโดยแยบคายแล้ว มีโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ จนกระทั่งเกิดผลดังนี้ หาใช่เกิดจากการอ่านเอา คิดนึกคาดเดาเอาแล้วก็นำไปใช้อย่างมักง่าย ธรรมที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าหาได้เกิดจากการอ่านการฟังเท่านั้นก็ไม่ใช่ แต่เกิดจากการปฏิบัติทางจิต จนรู้แจ้ง เห็นจริง ไม่ใช่รู้จำ รู้จัก หรือเห็นแล้วแต่ยังไม่จริง ดังนั้นการจะนำเอาธรรมใดๆไปพูดนั้น หากไม่ใช่เป็นธรรมอันตนได้รู้แจ้ง เห็นจริง ด้วยตนเองแล้ว ก็ไม่สมควรจะนำเอาไปใช้กล่าว เพราะแม้กล่าวได้ถูกต้องครบถ้วนในอักขระ ก็หาได้เกิดประโยชน์อันใดไม่ เป็นแต่เพียงจำมาพูด นึกเอาว่า เท่านั้นเอง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑