อยู่กับปัจจุบัน


อยู่กับปัจจุบัน

                ตัดอดีต ปิดอนาคต กำหนดปัจจุบัน  คำถามคือ ถ้าอยู่กับปัจจุบันแล้ว จะคิดวางแผนงานในอนาคต หรือจะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของเราเอง หรือว่าผลงานเก่าๆที่เคยทำมา ก็ผิดสิ????

                หลายๆคนสงสัย หลายคนเข้าใจผิด ผมเองก็เช่นกัน แล้วก็ไม่มีใครมาตอบข้อสงสัยตรงนี้ให้กับผมฟัง ให้กระจ่างแจ้งแก่ใจ จนกระทั่งเห็นใจ จึงเข้าใจว่า ครูบาอาจารย์สอนถูกต้องแล้ว ให้อยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าเราไปเข้าใจว่า ห้ามคิดถึงอดีต ห้ามคิดถึงอนาคต เพราะว่ายังฟังไม่ทันจบความ

                ให้อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปอยู่กับอดีต อย่าไปอยู่กับอนาคต ถ้าฟังแบบนี้แล้วก็จะเริ่มเข้าใจขึ้นมาบ้างแล้ว หากจะขอขยายความว่า คนที่อยู่กับอดีตคือ คนที่นึกครุ่นคิดถึงแต่ความทุกข์ในอดีตเอามาบั่นทอนจิตใจจนไม่กล้าที่จะทำอะไร บางคนก็อยู่กับอดีตที่เคยรุ่งเรืองร่ำรวยไม่ยอมรับความเป็นจริงในปัจจุบันก็ทำตัวชนิดที่เรียกว่า เป็นคนจมไม่ลง นี่คือคนที่อยู่กับอดีต สำหรับคนที่อยู่กับอนาคตคือ คนที่คิดฟุ้งซ่านไปว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็นใหญ่เป็นโต เราจะร่ำรวยตามที่หมอดูทำนาย ฝันว่าเราจะได้อภิญญาสมาบัติ ตายไปแล้วจะได้ไปพระนิพพาน ส่วนคนที่อยู่กับปัจจุบันทำงานงกๆ หยิบจับโน่นนี่นั่นมาประกอบเข้าด้วยกัน เย็บปักถักร้อย ขับรถไปโน่นมานี่ พวกนี้ก็ไม่ได้จัดอยู่ในคนที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกไว้ว่า อยู่กับปัจจุบัน เช่นกัน

                คำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” ท่านหมายถึงคนที่มีสติ เจริญสติ ระลึกรู้อยู่ในปัจจุบันว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ คือนับเอา “สติ” เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา แม้ว่าจะขับรถอยู่ จะนั่งนับเงินอยู่ หรือจะทำอะไรในปัจจุบัน คิดเรื่องต่างๆในปัจจุบัน แต่ว่าถ้าขาดสติเสียแล้ว ท่านก็ไม่นับว่าเป็นผู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าถ้าหากคนผู้นั้น คิด พูด ทำ อย่างมีสติ จะคิดไปถึงเรื่องในอดีตก็ตาม คิดในเรื่องปัจจุบันก็ตาม คิดในเรื่องอนาคตก็ตาม คิดอย่างมีสติ แบบนี้ท่านเรียกว่า คนผู้นั้น อยู่กับปัจจุบัน

                อยู่กับปัจจุบัน ต้องนับเอาเกณฑ์สติ เป็นเครื่องชี้วัด สติ คือ ระลึกรู้ หรือผู้รู้ ระลึกรู้อะไรจึงจะเรียกว่า เป็นผู้อยู่กับปัจจุบัน
  1.         ระลึกรู้ว่า เวลานี้เรากำลังคิดเรื่องอะไรอยู่ เมื่อรู้แล้วว่าคิดเรื่องอะไร ก็จะเห็นการดำเนินไปของความคิดนั้นๆจนกระทั่งจบ (ปกติถ้าไม่มีสติก็จะคิดไปเรื่อยๆ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คิดฟุ้งซ่าน) เมื่อจบแล้วก็ไม่ต้องมาคิดวนไปเวียนมาซ้ำๆซากๆอีก จะหยุดคิดก่อนก็ได้ หรือจะยกเอาเรื่องที่ค้างไว้นำมาคิดต่อก็ได้
  2.         ระลึกรู้ว่า เวลานี้เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร เมื่อมีสติในการพูดแล้ว เราย่อมไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดจาไร้สาระ ลักษณะแบบนี้จึงเรียกว่าพูดอย่างมีสติ เป็นการอยู่กับปัจจุบัน
  3.           รู้สึกตัวว่า เวลานี้เรากำลังทำอะไรอยู่ จะหยิบ จะจับ จะเคลื่อน จะย้าย รู้สึกตัวอยู่ มีการพิจารณาใคร่ครวญรอบคอบ ถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย เหมาะสม พร้อมเพรียง คือเป็นผู้มีสัมปชัญญะ


ดังนั้นการอยู่กับปัจจุบัน จึงหมายถึงการ คิด พูด ทำ อย่างมีสติ เมื่อเป็นผู้มีสติ ระลึกรู้ คือ มีผู้รู้คอยตามดูจิตอยู่เสมอๆแล้วนั้น แม้จะคิด จะพูด หรือจะเล่า เรื่องราวในอดีต ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้อยู่กับปัจจุบัน ดังจะยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสถึงอดีตชาติของพระองค์ในแต่ละชาติ ให้กับสาวกฟัง อ่านดีๆนะครับ “ทรงตรัสถึงอดีตชาติ” องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีสติ สัมปชัญญะ บริบูรณ์ตลอดเวลา นอกจากนี้พระผู้มีพระภาคเจ้ายังได้ทรงตรัสถึงอนาคตกาลว่า จะมีสิ่งใดเกิดขึ้น และเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยต่างๆ อย่างไรบ้าง ดังที่ทุกท่านได้ทราบกันดีอยู่แล้ว

อธิบายเรื่อง การอยู่กับปัจจุบัน มาจนกระทั่งถึงตอนนี้แล้ว ก็หวังว่าหลายๆท่านจะพอเข้าใจ เพราะอธิบายวกไปวนมาก็จะน่าเบื่อ แต่หากจะอธิบายโดยละเอียดมากกว่านี้ก็สามารถยกตัวอย่างต่างๆมาประกอบให้ฟัง แต่ก็จะยืดยาวเกินความจำเป็นไป เพราะสมัยนี้คนมีความอดทนในการอ่านลดน้อยลงไปมาก จำต้องเขียนให้น้อยลง เพื่อจะให้อ่านได้ง่ายขึ้น และหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้นำไปพิจารณาใคร่ครวญ ในการเลือกเฟ้นการปฏิบัติของตนให้เหมาะสมต่อตน ต่อเวลา ต่อสถานที่ ให้โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่เสีย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑