มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๓ จิตในจิต


มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๓

จิตในจิต

                ลำพังเพียงเรื่องของจิตนั้น ก็นับว่าเป็นความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากมายทีเดียว จะอธิบายให้ง่ายก็ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะสำหรับหลายท่านแล้ว จิตคืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร มีรูปลักษณะนามแบบไหน ก็ยังจำแนกไม่ได้ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ตัวข้าพเจ้าเองก็เคยเป็นแบบนี้มาก่อน และไม่ว่าครูบาอาจารย์จะอธิบายอย่างไร ข้าพเจ้าก็ไม่มีความเข้าใจคำว่า “จิต” เลย

                เท่าที่พอจะสมมติมาอธิบายคำว่าจิต ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็น “สภาวะว่างๆ” นั่นเอง แล้วสภาวะว่างๆแบบไหนหรือจึงจะหมายถึงจิต ถ้าจะอธิบายถึงสภาวะว่างๆที่เรียกว่าจิตนี้ ก็ต้องขออธิบายถึงสภาวะไม่ว่างเสียก่อน กล่าวคือ เมื่อเกิดอารมณ์ใดๆขึ้นมา นั่นคือสภาพที่จิตเสวยอารมณ์นั้น จนปรากฏให้เห็น เช่น อารมณ์โกรธ ก็จะเกิดสภาวะที่จิตไม่ว่างเสียแล้ว แต่จิตแปรสภาพจากว่างมาเป็นโกรธ เราจะสามารถเห็นจิตที่มีสภาวะโกรธนี้ได้ เมื่ออารมณ์โกรธเกิดขึ้นแล้ว ความคิดก็จะเกิดขึ้น ซึ่งความคิดตรงนี้เองที่เกิดจากการปรุงแต่งโดยสังขารภายในจิต

                เนื่องจากจิตมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะต่างๆอย่างรวดเร็วมาก จนสติยังตามไม่ทัน เช่นเมื่อจิตเปลี่ยนจากสภาวะว่าง มาเป็นไม่ว่างเพราะมีอารมณ์จากภายนอกหรือภายในก็ตามมากระทบ ก็ตามรู้ไม่ทัน มาเห็นอีกทีตอนมีอารมณ์นั้นเกิดขึ้นกับจิตเสียแล้ว หรือช้ากว่านั้นก็มาเห็นว่ามีการปรุงแต่งไปจนเกิดเป็นความคิดไปแล้ว ดังนั้นจึงเกิดกุศโลบายหลากหลายวิธีเพื่อการเข้าถึงสภาวะจิตที่ปราศจากอารมณ์หรือความคิด แนวทางของหลวงพ่อเทียนจะอาศัยสติตามดูความคิด เมื่อความคิดดับลง ก็พบกับความว่าง(ชั่วคราว)หรือสภาวะจิตที่ว่าง สำหรับแนวทางการเจริญอานาปานสตินั้น จะอาศัยการหลบอารมณ์ต่างๆจนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง หรือที่เรียกว่า เอกัตคตารมณ์ เมื่อจิตค่อยๆถอนออกจากสมาธิ มาถึงอุปจารสมาธิ เริ่มเกิดความคิด อารมณ์ ความรู้สึกขึ้น ท่านก็จะยกเอาอารมณ์ที่เข้ามากระทบในช่วงนี้เป็นเครื่องพิจารณาของจิต นี่เป็นตัวอย่างแนวทางที่ครูบาอาจารย์ท่านได้แนะนำเอาไว้ ซึ่งก็ยังดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับหลายๆท่าน สำหรับท่านที่ต้องการความง่ายที่จะเข้าถึงสภาวะว่างของจิต เพื่อให้เห็นว่าสภาวะแบบนี้เองที่สมมติเรียกกันว่าจิต ก็ขอให้สูดลมหายในเข้าลึกๆจนสุดแล้วกลั้นลมหายใจเอาไว้ เวลานั้นความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ต่างๆท่านจะหายไป แรกๆอาจจะยังไม่หาย แต่เมื่อกลั้นลมหายใจเอาไว้แบบนั้นจนใกล้จะสุดลมกลั้น ก็จะเห็นว่าความคิดต่างๆไม่เกิด มีแต่ว่างๆ มืดๆ ว่างเปล่า ไม่มีอะไร ตรงที่ไม่มีอะไรนี่เอง ที่เราสมมติเรียกว่า จิต

                สภาวะว่างของจิตแบบนี้ ก็ไม่ใช่ว่างอย่างแท้จริง เป็นแต่เพียงเรายังมีสติรู้ไม่เท่าทันเพียงพอว่ายังคงมีบางอย่างอยู่ในจิต อันเป็นสภาวะที่ละเอียดอ่อนเกินกว่ากำลังสติที่ยังอ่อนอยู่นั้น จะสามารถรู้เห็นได้ ต่อเมื่อเพียรฝึกสติต่อไปไม่ย่อหย่อนแล้ว จึงจะค่อยๆเห็นอาการหรือกริยาของจิตที่ว่างนี้ว่า ยังมี สัญญา สังขาร อุปาทาน ภายในจิต แม้จิตว่างจากอารมณ์ใดๆแล้ว สัญญา สังขาร อุปาทาน ก็ยังคงอยู่ในจิตนี้ ดังนั้นสภาวะว่างของจิตที่เห็นอยู่นั้น ยังไม่ใช่จิตเดิมแท้ อย่างที่หลวงปู่ดูลย์หรือท่านเหว่ยหลาง กล่าวเอาไว้

                ต่อเมื่อเจริญสติให้ยิ่งๆขึ้นไปจากอนุสติจนเป็นมหาสติแล้ว จึงจะเห็นสภาวะที่จิต แยกตัวออกจาก สัญญา สังขาร แลมองเห็นอุปาทานอย่างชัดเจน มองเห็นกระบวนการที่กระทำต่อกันของ สัญญา สังขาร อุปาทาน และจิต จนก่อเกิดเป็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด เมื่อนั้นแล้วจึงจะได้ชื่อว่า เป็นผู้เห็นจิตของตน เมื่อผู้ฝึกได้เจริญสติต่อเนื่องไปแล้วนั้น ย่อมจะเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในจิต เห็นการเกิดของอารมณ์ การดับของอารมณ์ ทั้งอารมณ์ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก คือ ตาเห็นรูป หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายรับสัมผัส และปัจจัยภายในคือธรรมารมณ์อันเกิดจากความจำได้หมายรู้ภายในใจ ซึ่งก็คือตัวสัญญา ยกตัวอย่างเช่น นั่งอยู่เฉยๆนึกถึงคนที่เคยโกงเราไปแล้วก็เกิดอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้นขึ้นมาเฉยๆ ทั้งๆที่เจ้าตัวก็ไม่ได้มายืนให้เห็นอยู่ตรงหน้า อย่างนี้คือการเกิดอารมณ์อันมาจากสัญญาภายในใจของเราเอง

                การมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงภายในจิต ที่เกิดขึ้นของ สัญญา สังขาร อุปาทาน และจิต เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา วนไปเวียนมา เกิดๆดับๆอยู่อย่างนี้ไปนับหมื่นนับแสนครั้ง จนกระทั่งสติรู้เห็นถึงความเบื่อหน่ายของการเกิดดับวนเวียนไปจาก สัญญา สังขาร อุปาทาน และจิต เมื่อนั้นจิตและสติ จึงปลงลงไปพร้อมกันว่า สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นไม่ดับไปย่อมไม่มี แม้จิตนี้ก็เช่นกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดับไปแล้วก็เกิดขึ้นใหม่ จิตเป็นของไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ควรหรือจะถือว่าจิตนี้เป็นเรา เป็นของเรา

                สภาวะที่มองเห็นว่าจิตนี้ไม่เที่ยง จิตนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สภาวะแบบนี้ที่ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คือการเห็นจิตในจิต คือการเห็นจิตในสภาวะความเป็นจริงนั่นเอง เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว เยื่อใย ที่จะใยดีต่อจิตว่าเป็นตัวเป็นตนของเราก็หายไป จึงปรากฏสภาวะใหม่ขึ้นมาที่พ้นสภาพการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว เป็นสภาวะว่างที่ว่างสนิท ไม่เจือปนด้วยนามธรรมใดๆทั้งหลาย มีความรู้ยิ่ง รู้พร้อม ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎเกณฑ์ของไตรลักษณ์ สภาวะตรงนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่า คือ จิตเดิมแท้ หรือจิตพุทธะ หรือที่หลวงปู่เทสน์ท่านเรียกว่า ใจ ซึ่งในระหว่างการฝึกนั้น ก็จะไม่มีนิยามใดๆเกิดขึ้น จนเมื่อออกจากกรรมฐาน ณ เวลานั้นแล้ว จึงใคร่ครวญพิจารณาถึงสภาวะที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงมาเทียบเคียงเอากับคำนิยามของครูบาอาจารย์ที่ท่านสมมติเรียกเอาไว้ เนื่องเพราะระหว่างการฝึกนั้น สภาวะต่างๆก็ดำเนินไปแบบไม่มีชื่อ ไม่มีแม้แต่คำว่าสภาวะ

                การพิจารณาเรื่องจิต และจิตในจิต ของข้าพเจ้า ผู้ยังเป็นนักปฏิบัติที่หลงในธรรมอยู่นั้น ก็ขอวิจารณ์เอาไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้ท่านนักปฏิบัติทั้งหลายอย่างพึงเชื่อถือข้าพเจ้า ขอให้เป็นเพียงการนำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญาของแต่ละท่านเอง พิสูจน์เอง เหมือนอย่างที่ข้าพเจ้าพิสูจน์มา สวัสดี


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑