พุทธ หรือ พราหมณ์

พุทธหรือพราหมณ์
      ศาสนาพราหมณ์ มีมานานและมีมาก่อนพระพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น มีการสวดอ้อนวอนขอจากพระผู้เป็นเจ้า มีการบำเพ็ญตนเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าเห็นใจ ยอมรับ และประทานพรให้ มีคัมภีร์พระเวทย์ต่างๆ มีการฝึกสมาธิ ทั้งรูปฌาน และ อรูปฌาน ราชวงค์ศากยะของเจ้าชายสิทธัตถะแต่เดิมก็ยอมรับนับถือพราหมณ์ เจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะตรัสรู้ สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ทรงศึกษาศาสนาพราหมณ์มาก่อน ดังนั้นหลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว เวลาเผยแพร่ หลายๆเรื่องก็อนุโลมให้ใช้ความรู้ของฤษี ชีพราหมณ์ได้ ไม่ได้ทรงตัดขาดจากพราหมณ์เสียทั้งหมดทีเดียว เพื่อไม่ให้เกิดความขัดข้อง ขัดเคือง ต่อผู้ที่พึ่งเข้ามาศึกษาในพระพุทธศาสนา และยังทรงเลือกเอาสิ่งที่มีประโยชน์ของศาสนาพราหมณ์ นำมาใช้เป็นพื้นฐานให้กับพุทธบริษัทฯ ได้อย่างแยบคาย เช่น วิธีการฝึกสมาธิ แต่ว่าทรงกำกับเพิ่มลงไปว่า สัมมาสมาธิ คือสมาธิโดยชอบ สมาธิโดยชอบนี้หมายถึง สมาธิที่ก่อให้เกิดปัญญา จะเกิดปัญญาได้ ก็ต้องมีสติคอยกำกับ
      อานาปานสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานหลักในทางพระพุทธศาสนา เพราะยังควบด้วยอนุสติเข้าไปและสามารถทำให้เข้าถึงฌาณ๔ได้ ถ้าจะฝึกเอาแบบฤษี ก็อาศัยกสิณ๑๐ประการซึ่งสามารถทำให้เข้าถึงอรูปฌาณ ๔ ก็ได้ด้วย สำหรับอานาปานสติกรรมฐานนี้ ก็จะขอเล่าถึงพื้นฐานการฝึกเพื่อให้เข้าถึงปัญญาในเบื้องต้น สำหรับผู้ที่ฝึกอานาปานสติไปจนถึงฌาณ๔แล้ว จิตมีอาการสงบระงับ สงัดเงียบ เป็นอารมณ์หนึ่งเดียวอยู่ที่จิตแล้ว คือเอกัตคตารมณ์ จากนั้นเมื่อถอนออกจากสมาธิ ในระหว่างที่ยังอยู่ในท่านั่งนั้น ยังไม่ลืมตา ก็ให้ยกหัวข้อธรรมขึ้นพิจารณา เรื่องที่เหมาะสำหรับการพิจารณาเรื่องแรกๆก็คือ อาการที่เสื่อมสลายหายไปของฌาณ๔ จนมาอยู่ในอุปจารสมาธิ ว่า ฌาณ๔นี้เป็นของดี ที่ทำได้ยากในชนทั้งหลาย ผู้รู้สรรเสริญ เป็นจิตอันทรงกำลัง มีความสงบระงับได้ดีนั้น บัดนี้ก็ได้เสื่อมถอยลงมาเป็นอุปจารสมาธิเสียแล้ว ถึงแม้ว่าสมาธินี้จะดีปานใด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่สามารถคงทนให้อยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย ในที่สุดก็ต้องเสื่อมสลายหายไปแบบนี้เอง ร่างกายคนเรา ที่มีเลือดเนื้อ อาหารเก่า อาหารใหม่ น้ำเหลือง น้ำหนอง เสมหะ อันน่าโสโครกนี้ ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดต้องตาย ตายแล้วก็เน่า ย่อยสลาย หายไปในที่สุดเช่นกัน ควรหรือที่เราจะยินดีในร่างกายนี้ แม้สมาธิก็เช่นกัน
   เมื่อพิจารณาย้อนไปย้อนกลับหลายๆรอบแล้ว ก็ให้จบลงด้วยว่า ในเมื่อร่างกายอันสกปรกอยู่เนืองนิจย์นี้ยังคงดำรงอยู่ เราก็จะดูแลรักษาตามสมควร ประหนึ่งสิ่งของที่หยิบยืมเขามา สมาธินี้เราก็จะยังคงฝึกเอาไว้ให้ชำนิชำนาญ เพื่อผลแห่งการเจริญสติ และปัญญาสืบต่อไป จนวันใดเราสิ้นอาสวะแล้ว ก็เป็นอันว่าจบกัน เมื่อยังไม่จบกิจแต่เพียงใด เราก็ยังคงฝึกฝนให้มาก ฝึกแต่ไม่ยึด ไม่ยึดไม่ใช่ไม่ฝึก
     เมื่อฝึกบ่อยๆเข้า ทุกๆครั้งที่ออกจากสมาธิ ก็พิจารณาในกาย ในจิต อยู่อย่างนี้ทุกๆครั้ง ครั้งละหลายๆรอบ ทั้งพิจารณาไปและกลับ พิจารณาโดยหยาบ พิจารณาโดยละเอียด ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นับหมื่นนับแสนรอบ จิตจะโอนอ่อนผ่อนตามเข้าหาความเป็นจริงของไตรลักษณ์ เพื่อให้พร้อมต่อสภาวะธรรมอันเป็นปรมัตถธรรมในภายภาคหน้าต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑