หลงสายกลาง

 


มัชฌิมาปฎิปทา คือทางสายกลาง ที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงตรัสแนะนำเอาไว้ และได้ทรงตรัสห้าม ส่วนสุดสองอย่าง คือ การทรมานร่างกายให้ได้รับความลำบาก เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค และการปรนเปรอปล่อยกายปล่อยใจไปกับความสุข เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค 

    ตอบแบบง่ายๆ กำปั้นทุบดิน ทางสายกลางก็คือการปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ไม่ทรมานตนเองและก็ไม่ปล่อยกายปล่อยใจไปในความสุขทางโลกๆ ไม่หนักไป ไม่เบาไป ไม่เอียงไปทางซ้าย ไม่เอียงไปทางขวา เมื่อฝึกไปแล้วก็จะรู้เองว่านี่แหละ ทางสายกลาง นี่คือสิ่งที่ผมรู้เมื่อตอนที่ยังไม่รู้ ตอนที่ยังหลงทางหลงธรรม หลงคิดว่าตัวเองรู้ จนกระทั่งมันเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ก็ในเมื่อหลวงพ่อให้เราทำความเพียรให้มากๆ ทำให้ชำนิชำนาญ ทำจนเป็นวสี แบบนี้มันจะไม่เป็นการทรมานกายได้ยังไง เดินจงกรมวันละ11-13ชั่วโมง นั่งสมาธิ 4-6 ชั่วโมง มันก็ปวด เมื่อย ทรมานร่างกาย ท่านก็บอกว่ามันเป็นขันธมาร มารแปลว่าผู้ฆ่า ผู้ทำลาย คือทำลายความเพียร แล้วท่านก็ว่าให้ว่าฝึกแบบนี้ยังชื่อว่าเป็นผู้เกียจคร้าน 

    ตกลงแล้วอะไรเป็นเครื่องชี้วัดว่า ณ เวลานี้เรากำลังทรมานกาย อย่างที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามเอาไว้ หรือว่าเรากำลังทำความเพียรเพื่อเผากิเลสกันแน่ เรากำลังฝึกเพื่อต้านทาน ทำลายความเกียจคร้าน ต้องการพักผ่อน หรือเรากำลังอยู่ในอัตตกิลมถานุโยคกันแน่ ไม่เข้าใจจริงๆ พอปวดก็บอกว่าพิจารณาลงที่ปวด รู้ที่ปวด แต่ว่าอย่าไปยึดที่ปวด ความปวดแม้ว่าจะเป็นทุกขเวทนาทางกาย สุดท้ายแล้วมันก็ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง คงอยู่อย่างนั้นตลอดกาลตลอดสมัยไม่ได้ เป็นทุกขัง และต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด เป็นอนัตตา อันว่าสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความปวดก็ไม่เที่ยงเช่นกัน ความโง่เขลาของผมเอง ผมไม่รู้ว่ามันต่างกันยังไง ระหว่างการทำความเพียร การทรมานร่างกาย ขันธมารที่ต้องเอาชนะให้ได้ การทนความเจ็บปวดทางกาย คือการทำความเพียรหรือเป็นการทรมานร่างกาย ผมแยกไม่ออก ได้แต่ฝึกไป ฝึกไป ฝึกไป เจ็บปวดก็ทนแล้วทนอีก อยากโง่เอง ก็โง่มันไปให้ถึงที่สุด สุดๆของความโง่แล้วดูสิว่ามันจะเป็นยังไง 

    ปวดเข่าก็ยังเดินจงกรมไป ทนมันไป ท่านที่เคยปวดจัดๆจะรู้ดีกว่า ปวดมากๆเข้ามันจะแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดลามไปหมดทั้งตัว ปวดจนหูอื้อตาลาย หายใจไม่ออก ผมก็ยังทนเดินจงกรมต่อไป จนในที่สุดก็ได้ยินเสียงกระดูกที่หัวเข่าแตกลั่น ดังเปรี๊ยะ ติดๆกันหลายครั้ง เหมือนกระแสไฟฟ้าสปาร์คจากหัวเข่าวิ่งขึ้นมาที่ต้นขา แทบล้มทั้งเดิน ใจก็จะขาดอยู่ตรงนั้น ผมชนะขันธมารหรือเปล่า หรือเพราะฑิฐิมานะที่ต้องการเอาชนะ นั่นคือเราหลงตกเป็นทาสของฑิฐิมานะหรือเปล่า เรากำลังทำความเพียรอย่างยิ่ง หรือว่าเรากำลังทรมานกายอย่างโง่ๆ เฝ้าถามตัวเองอยู่ภายใน วนไปวนมา ซ้ำไปซ้ำมาอยู่แบบนี้ แล้วอะไรหนอ จึงเป็นเครื่องชี้วัดว่า นี่เรากำลังทำความเพียร หรือว่าเรากำลังทรมานร่างกาย จนกระทั่ง สติมาพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

    ความเพียรนี้ ท่านหมายเอาความเพียรที่จิต ไม่ใช่เพียรที่กาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่อาศัยกาย ยังต้องอาศัยกายในการทำความเพียรก่อน เพื่อให้เห็นจิต แล้วจึงทำความเพียรอยู่ที่จิต การทำความเพียรทางกายนี้ไม่ได้นับเอาท่าทางการเดิน ไม่ได้นับเอาเวลาที่ใช้ในการเดิน แต่ต้องนับเอาเวลาที่มีสติ สัมปชัญญะในขณะที่เดิน เมื่อนั้นแล้วจะเกิดการพิจารณาและเกิดปัญญาขึ้นภายในใจ หากเดินมากๆ ทนปวดมากๆ แต่ว่าไม่เกิดปัญญาอะไรเพียงแต่ต้องการจะเอาชนะความเจ็บปวด เป็นการทรมานร่างกาย ก็เป็นอัตตถกิลมถานุโยค แต่ว่าถ้าทำความเพียรเหมือนกัน แต่มีสติ สัมปชัญญะ จนเกิดปัญญานั้นแล้วถึงจะไม่เป็นอัตตกิลมถานุโยค คือวัดกันที่การเกิดปัญญา ไม่ได้นับเอาเวลาว่ากี่ชั่วโมง ไม่ได้นับว่าใครทนปวดได้มากกว่ากัน 

   

    ทางสายกลางของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ไม่อาจจะมาใช้เป็นเครื่องชี้วัดของแต่ละคนได้ แต่พอจะเอามาประเมินโดยทั่วไปได้ว่า ต้องมีสติ สัมปชัญญะ และเกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดในเบื้องต้นก็คือการเห็นไตรลักษณ์ เมื่อนั้นแล้วจึงพอจะสรุปได้ว่า การทำความเพียรนี้ กระทำลงที่จิต ทรมานกิเลสก็ที่จิต กำจัดแล้วซึ่งกิเลสก็ที่จิต จนเกิดปัญญาก็ที่จิต ไม่ใช่ที่กาย “มโนบุพพัง คมาธัมมา มโนเสฎฐา มโนมยา” ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ใจสำคัญที่สุด ทุกสิ่งจะสำเร็จได้ก็ที่ใจ (ไม่ใช่ที่กาย) ดังนั้นการทรมานร่างกาย ด้วยการอดนอน อดอาหาร ตากแดด ตากลม ตากฝน ไม่เกิดประโยชน์สักเท่าไร

 

          กว่าจะรู้ทางสายกลาง ผมต้องไปจนสุดทางของคนโง่ ผลที่ได้รับคือ กระดูกเข่าเสื่อม หมอนรองกระดูกที่เอวแตกร้าว ระบบทางเดินอาหารพังหมด จึงได้พบว่า การทรมานกายไม่มีประโยชน์ ทรมานกิเลสในใจจึงจะมีประโยชน์ การฝึกฝนความเพียรที่ถูกคือฝึกแล้วต้องเกิดปัญญา ปัญญาในที่นี้คือเห็นไตรลักษณ์ แล้วเกิดความลด ละ เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ออกจากกามเสียได้ แม้จะนั่งเหยียดแขน เหยียดขา อยู่เฉยๆ แต่ถ้ามีสติตามดูจิตอยู่ ไม่ว่างเว้น ทั้งกลางวันกลางคืน ปราชญ์(ท่านผู้รู้)ก็ชื่นชมว่าเป็นผู้มีความเพียร แม้จะเดินจงกรมจนหัวเข่าแตก ข้อเข่าเสื่อม แต่ไม่มีสติตามรู้ตามดูจิต ท่านก็ว่าผู้นั้นเป็นผู้เกียจคร้าน

 

          บันทึกเอาไว้ ในวันที่ปวดเอวแทบขาด ตรงตำแหน่งที่หมอนรองกระดูกเคยแตก เพื่อเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจตัวเองในความโง่เขลา ที่ไม่รู้ว่าทางสายกลางคืออะไร อย่างไรจึงจะเรียกว่ากลาง ไม่รู้ว่าการฝึกจิต ต้องฝึกที่จิต ไม่ใช่ฝึกที่กาย หลวงพ่อสอนถูกแล้ว เพียงแต่ผมไม่เข้าใจเอง แต่ว่าความเพียรในการทรมานร่างกายในเวลานั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เอาเสียเลย มันก็ยังพอได้ประโยชน์เล็กๆน้อยๆคือได้กำลังใจสู้ ใจมันสู้แบบยอมตายถวายชีวิต ปฏิบัติบูชาแม้ว่าทำไปแบบโง่ๆก็ตาม วันนี้จึงมาบันทึกเอาไว้ให้คนรุ่นหลังอย่าได้มาโง่ซ้ำรอยผมอีกเลย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิปัสสนานั่งหลับตา ตอนที่ 1

มหาสติปัฏฐาน๔ฉบับหลงธรรมตอนที่๒

พระนิพพาน ๑